คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 86/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่จะยื่นคำร้องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ จะต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ข้อเท็จจริงตามคำร้อง แม้คำพิพากษาของศาลปกครองจะถึงที่สุดตามมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่คำพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๖ คู่ความจึงยื่นฎีกาได้ภายในกำหนด ๑ เดือน นับแต่วันดังกล่าว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองขัดแย้งกัน จึงยังไม่พ้นกำหนดเวลายื่นฎีกาและเป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมยังไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๗ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๔๗ คำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๘๖/๒๕๕๖

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง การยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

คำพิพากษาศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
เทศบาลตำบลหนองสอยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อเท็จจริงในคดี
ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส อาร์ แกลเลอรี่ ๒๐๐๔ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลหนองสอ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๙/๒๕๕๓ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าจ้างสร้างและติดตั้งซุ้มเฉลิมพระเกียรติเป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลปกครองขอนแก่นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงิน ๗๕๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๙๗/๒๕๕๕ ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ ศาลปกครองขอนแก่นไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา คดีถึงที่สุด และในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองขอนแก่น ผู้ฟ้องคดีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีเป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๑๐/๒๕๕๔ ขอให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างสร้างและติดตั้งซุ้มเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวอีก ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์พิพากษายกฟ้อง เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๑๗๕๕/๒๕๕๔ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๓๒/๒๕๕๕ หมายเลขแดงที่ ๒๘๑๗/๒๕๕๕ เทศบาลตำบลหนองสอเห็นว่าเป็นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลปกครองขอนแก่นและศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของทั้งสองศาลว่าควรปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลใด
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คำร้องของเทศบาลตำบลหนองสอชอบด้วยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความ หรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด” ดังนั้น คดีที่จะยื่นคำร้องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ จึงต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ข้อเท็จจริงตามคำร้อง แม้คำพิพากษาของศาลปกครองจะถึงที่สุดแล้วตามมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมนั้น ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๖ คู่ความจึงยื่นฎีกาได้ภายในกำหนด ๑ เดือน นับแต่วันดังกล่าว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองขัดแย้งกัน จึงยังไม่พ้นกำหนดเวลายื่นฎีกาและเป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมยังไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๗ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๔๗ คำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔
จึงมีคำสั่งว่า คำร้องของเทศบาลตำบลหนองสอ ผู้ร้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้อง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share