คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4498/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นในการปลอมเอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ตั้งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่การปลอมสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล แม้จะมุ่งหมายให้เกิดผลเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นคำสั่งของศาลที่แท้จริง แต่ก็ยังไม่อาจนำลำพังความมุ่งหมายให้เกิดผลดังกล่าวมาถือเป็นข้อชี้ขาดว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1),33 จึงไม่อาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฐานละเมิดอำนาจศาลได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 นายทองจันทร์ นาสิงห์บุตร ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรมของนางนุ นาสิงห์บุตร ผู้ตาย ต่อศาลชั้นต้นอ้างว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการที่ดินโฉนดเลขที่ 4958, 19300 ตำบลนาหว้า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น อันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่จากการไต่สวนของศาลชั้นต้นพบว่าตามสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินดังกล่าวมีการตั้งนายทองจันทร์ นาสิงห์บุตร เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก่อนแล้วโดยอ้างคำสั่งศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 806/2542 ลงวันที่ 30 เมษายน 2542 ตามเอกสารหมาย ล.1 จึงให้เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมตรวจสอบสารบบคำพิพากษาและสำนวนของศาลชั้นต้นได้ความว่า สำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 806/2542 ดังกล่าวเป็นคดีระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์โจทก์นางมะลิอร ทรงสุวรรณหรือทรงสุวรรณ์ จำเลย เรื่อง ยืม จำนอง และไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งศาลชั้นต้นตั้งนายทองจันทร์ นาสิงห์บุตร เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ดังนั้น สำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นเอกสารปลอมอันเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาล ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนโดยกล่าวหานายทองจันทร์ นาสิงห์บุตร เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ให้การว่าได้ว่าจ้างให้นายนิพนธ์ บุตรเวียงพันธ์ เป็นทนายความในคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกและได้รับคำสั่งศาลปลอมจากนายนิพนธ์ บุตรเวียงพันธ์ จึงได้กล่าวหานายนิพนธ์ บุตรเวียงพันธ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ด้วย

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งตั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางนุ นาสิงห์บุตร ผู้ตายตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นเอกสารปลอมและผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ปลอมหรือมีส่วนร่วมในการปลอมคำสั่งศาลถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1),33 มีคำสั่งให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จำคุก 6 เดือน ให้นับโทษของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 คดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ พิเศษ 1/2543 และคดีหมายเลขแดงที่ พิเศษ 2/2544 ของศาลชั้นต้น ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ โดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนของศาลชั้นต้นจะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จะมีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นในการปลอมเอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นตามเอกสารหมาย ล.1 ที่ตั้งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางนุ นาสิงห์บุตร ผู้ตาย ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยก็ตามแต่เมื่อทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าการปลอมสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จะมุ่งหมายให้เกิดผลเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นคำสั่งของศาลที่แท้จริงอันเกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นซึ่งเป็นการกระทำที่มิได้เคารพเกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองที่สมควรอย่างยิงจะลงโทษให้หลาบจำและมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป แต่ก็ยังไม่อาจนำลำพังความมุ่งหมายให้เกิดผลดังกล่าวมาถือเป็นข้อชี้ขาดว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ดังกล่าวเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1), 33 จึงไม่อาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฐานละเมิดอำนาจศาลได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นในการปลอมเอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1), 33 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4”

Share