คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4227/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา218 วรรคแรก จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนนั้นจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า เหตุที่ศาลชั้นต้นเป็นเหตุลดโทษจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นเหตุในลักษณะคดีโดยที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยที่ 1 เพราะให้การรับสารภาพชั้นศาล และลดโทษให้จำเลยที่ 2 เพราะรับสารภาพในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นคนละเหตุกัน การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าเป็นเหตุเดียวกันนั้น เป็นการปิดบังข้อเท็จจริงเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นข้อกฎหมาย ซึ่งในเนื้อหาก็คือการฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมาย ดังกล่าวเช่นกันศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 4, 7, 26, 76, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 26 วรรคสอง76, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งและลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 4 ปี ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อ 2 ข.และ ค. ว่าเป็นฎีกาข้อกฎหมาย ได้พิจารณาฎีกาข้อ 2 ข. แล้วจำเลยที่ 2 ฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2รับจ้างขนกัญชาโดยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองกัญชาของกลาง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นเบื้องต้นเพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าเป็นเพียงผู้สนับสนุน เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนฎีกาข้อ 2 ค. นั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่า เหตุที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นมาเป็นเหตุลดโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นเหตุเดียวกันแล้วอ้างเป็นข้อกฎหมายว่าเป็นเหตุในลักษณะคดีโดยที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นศาลการลดโทษให้จำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 รับสารภาพในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นเหตุลดโทษคนละเหตุกัน การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาสรุปรวมเอาว่าเป็นเหตุเดียวกันเพื่อให้เห็นเป็นข้อกฎหมายนั้น มิใช่การฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย แต่เป็นการปิดบังข้อเท็จจริงเพื่อให้เข้าใจเป็นข้อกฎหมาย ซึ่งในเนื้อหาก็คือการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั่นเองจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายที่ได้กล่าวข้างต้นเช่นกันเมื่อฎีกาขอจำเลยที่ 2 ทั้งสองข้อที่ศาลชั้นต้นรับมาเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามกฎหมายศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ฎีกาจำเลยที่ 2

Share