คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12352/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การระบุวัน เดือน ปีในหนังสือมอบอำนาจเป็นการมุ่งหมายให้ทราบว่ามีการมอบอำนาจเมื่อใดเพื่อแสดงว่าขณะตัวแทนทำการนั้นตัวแทนมีอำนาจหรือไม่
แม้หนังสือมอบอำนาจจะไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ส. ผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์โดยแนบหนังสือมอบอำนาจมาท้ายคำฟ้อง ซึ่งหนังสือมอบอำนาจระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องจำเลยโดยให้มีอำนาจถอนฟ้องและประนีประนอมยอมความ จึงเป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวว่าโจทก์มอบอำนาจก่อนหรืออย่างน้อยในวันที่ ส. ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางนั้นเอง ส. จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ การที่ ส. แถลงขอถอนฟ้องซึ่งกระทำได้ตามหนังสือมอบอำนาจและศาลแรงงานกลางอนุญาตจึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางที่ระบุว่า “ไกล่เกลี่ยแล้ว” หมายถึง ไกล่เกลี่ยโดยองค์คณะผู้พิพากษาที่ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคือผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 17
การไกล่เกลี่ยตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง มีวัตถุประสงค์หลักให้คดีระงับโดยนายจ้างและลูกจ้างมีความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไป โดยการตกลงหรือประนีประนอมยอมความนั้นต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย แต่หากนายจ้างกับลูกจ้างไม่สมัครใจที่จะให้มีความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างลูกจ้างกันต่อไป บทบัญญัตินี้ก็ไม่ได้ห้ามมิให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันเป็นอย่างอื่น การที่ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยแล้วผู้รับมอบอำนาจโจทก์กับผู้รับมอบอำนาจจำเลยตกลงกันโดยฝ่ายจำเลยตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์และโจทก์ถอนฟ้องซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย การไกล่เกลี่ยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ในชั้นไกล่เกลี่ยศาลแรงงานกลางยังไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงอันเป็นฐานที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่เพียงใด เงินที่จำเลยตกลงจ่ายให้โจทก์ระบุชัดเจนว่าเป็น “เงินช่วยเหลือ” ไม่ใช่ค่าชดเชย การที่ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยจึงไม่ใช่การไกล่เกลี่ยให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับเงินต่ำกว่าค่าชดเชยตามกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์มอบอำนาจให้นายสนั่น ฟ้องจำเลยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 จำเลยบังคับให้โจทก์เขียนใบลาออกทั้งที่โจทก์ไม่ประสงค์จะออกจากงานจึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยของเงินดังกล่าว
วันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 7 กันยายน 2554 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และผู้รับมอบอำนาจจำเลยมาศาล ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยแล้ว คดีตกลงกันได้โดยศาลแรงงานกลางจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า “ไกล่เกลี่ยแล้ว จำเลยตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์จำนวน 150,000 บาท และมอบหนังสือเลิกจ้างของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวและหนังสือเลิกจ้างแล้วในวันนี้ โจทก์พอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป จึงขอถอนฟ้อง” จำเลยไม่คัดค้าน ศาลแรงงานกลางจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
โจทก์โดยผู้รับมอบอำนาจคนใหม่ยื่นคำร้องสรุปว่า ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า เห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2554 และปรากฏหนังสือมอบอำนาจแนบท้ายคำฟ้องมาแล้ว ทั้งโจทก์บรรยายมาในคำร้องว่าได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ ซึ่งมีข้อความให้ผู้รับมอบอำนาจถอนฟ้องหรือประนีประนอมยอมความได้ การพิจารณาคดีในวันนัด ศาลได้สอบถามความประสงค์ของคู่ความทุกฝ่ายแล้วจึงจดรายงานกระบวนพิจารณาโดยอนุญาตให้โจทก์โดยผู้รับมอบอำนาจถอนฟ้องได้ ซึ่งอยู่ในวัตถุประสงค์ของหนังสือมอบอำนาจปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 7 กันยายน 2554 การดำเนินกระบวนพิจารณาจึงมิได้ผิดระเบียบหรือมิชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างเหตุอื่นมาในคำร้องก็มิใช่สาระที่จะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนกระบวนพิจารณา ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางในวันที่ 7 กันยายน 2554 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์สรุปสาระสำคัญได้ 2 ประการ คือหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ลงวัน เดือน ปี ที่มอบอำนาจ จึงเป็นการมอบอำนาจที่มิชอบไม่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ต้นและศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้ไกล่เกลี่ยโดยองค์คณะและเป็นการไกล่เกลี่ยขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ทั้งเป็นการไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ การอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่านายสนั่น ลงชื่อในคำฟ้องในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์โดยแนบหนังสือมอบอำนาจมาท้ายคำฟ้อง ในหนังสือมอบอำนาจระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสนั่นฟ้องจำเลยเรื่องเลิกจ้างเรียกค่าชดเชยและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย โดยให้มีอำนาจถอนฟ้องและประนีประนอมยอมความด้วย เห็นว่า การระบุวัน เดือน ปี ในหนังสือมอบอำนาจเพียงมุ่งหมายให้ทราบว่ามีการมอบอำนาจเมื่อใดเท่านั้น เพื่อที่จะแสดงว่าขณะตัวแทนทำการนั้นตัวแทนมีอำนาจหรือไม่ คดีนี้เป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวว่าโจทก์มอบอำนาจก่อนหรืออย่างน้อยในวันที่ 15 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่นายสนั่นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางนั่นเอง เพราะมีการแนบหนังสือมอบอำนาจมาท้ายคำฟ้อง ดังนั้นนายสนั่นจึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ เมื่อนายสนั่นซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจแถลงขอถอนฟ้องซึ่งเป็นอำนาจที่ผู้รับมอบอำนาจกระทำได้ตามหนังสือมอบอำนาจ ข้อ 3 และคู่ความอีกฝ่ายไม่คัดค้าน การที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์โดยผู้รับมอบอำนาจถอนฟ้องจึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ในอุทธรณ์ส่วนที่ว่าศาลแรงงานกลางไม่ได้ไกล่เกลี่ยโดยองค์คณะผู้พิพากษานั้น ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ที่ระบุว่า “ไกล่เกลี่ยแล้ว” นั้นหมายถึงไกล่เกลี่ยโดยองค์คณะผู้พิพากษาที่ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา คือผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละหนึ่งคน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 17 แล้ว ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์ส่วนนี้จึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงในสำนวน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์ในส่วนที่ว่าศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 38 โจทก์อ้างว่าบทบัญญัติมาตรา 38 เปิดช่องให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยได้เฉพาะคดีที่นายจ้างและลูกจ้างยังคงมีนิติสัมพันธ์กันอยู่เพื่อทั้งคู่จะได้มีความสัมพันธ์กันด้วยดีต่อไปหรือไกล่เกลี่ยคดีที่นายจ้างลูกจ้างเลิกนิติสัมพันธ์กันแล้วได้เฉพาะให้นายจ้าง ลูกจ้างกลับมามีความสัมพันธ์กันต่อไปเท่านั้น จะไกล่เกลี่ยเป็นประการอื่นไม่ได้ เห็นว่า มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “…ให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกัน โดยให้ถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกัน เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไป” นั้นหมายความว่าในการไกล่เกลี่ยคดีแรงงานวัตถุประสงค์หลักให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยให้คดีระงับโดยนายจ้างและลูกจ้างมีความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไป ซึ่งการตกลงหรือประนีประนอมยอมความนั้นนายจ้างและลูกจ้างต้องตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายหากนายจ้างและลูกจ้างประสงค์จะให้มีความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างลูกจ้างกันต่อไปศาลแรงงานก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ แต่อย่างไรก็ตามหากนายจ้างกับลูกจ้างไม่สมัครใจตกลงหรือประนีประนอมยอมความที่จะให้มีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างต่อไป บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันเป็นอย่างอื่น ดังนั้นหากนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันเป็นอย่างอื่นซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายก็ย่อมกระทำได้ คดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยแล้วผู้รับมอบอำนาจโจทก์กับผู้รับมอบอำนาจจำเลยตกลงกันได้ โดยฝ่ายจำเลยตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือให้โจทก์และฝ่ายโจทก์ขอถอนฟ้องซึ่งข้อตกลงกันดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย การไกล่เกลี่ยของศาลแรงงานกลางจึงหาใช่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า กรณีลูกจ้างฟ้องเรียกค่าชดเชยซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีความผิด ศาลแรงงานจะไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยแล้วโจทก์ไม่ได้รับค่าชดเชยเลย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ในชั้นไกล่เกลี่ยศาลแรงงานกลางยังมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดอันเป็นฐานที่จะไปวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่เพียงใด เงินที่จำเลยตกลงจ่ายให้โจทก์ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นเงินช่วยเหลือ ไม่ใช่ค่าชดเชย การไกล่เกลี่ยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ใช่การไกล่เกลี่ยให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับเงินต่ำกว่าค่าชดเชยตามกฎหมายดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งมานั้นชอบแล้ว และคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ไม่อาจนำมาเทียบเคียงการวินิจฉัยคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share