แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย เนื่องจากต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าในการกำหนดโทษแก่จำเลย มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย เมื่อปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจว่าจำเลยมิได้พรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก แม้จะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏต่อศาล ถึงแม้ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ ก็เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้
การที่ศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยยกฟ้องจำเลย แต่เมื่อศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามรายงานปรากฏว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจแน่ใจได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 และแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่หากยังไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงแล้วศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตามมาตรา 176 และมาตรา 228 ดังนั้น เมื่อปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลย เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้งศาลฎีกาจึงให้สืบพยานเพิ่มเติมว่าจำเลยพาผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของมารดาเพื่อจะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจริงหรือไม่ โดยส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบให้เสร็จแล้วให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไปตามมาตรา 208(1) ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพรากนางสาวเนตรพิศ อายุ 17 ปีเศษ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากนางสุทิน ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาและผู้ปกครองดูแลโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยทั้งนี้เพื่อการอนาจาร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 2 ปีจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก1 ปี จำเลยต้องโทษจำคุกเมื่อปี 2540 จึงไม่อาจรอการลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจได้ความว่าการที่จำเลยพาผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายก็เพื่อประสงค์จะพาผู้เยาว์ไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามิใช่เป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะวินิจฉัยอีกต่อไป พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติมายกฟ้องโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องแต่ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยไปเท่านั้นมิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยที่พานางสาวเนตรพิศผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของนางสุทินมารดาก็เพื่อประสงค์จะพานางสาวเนตรพิศผู้เยาว์ไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยานั่นเอง จึงมิใช่เป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก ข้อเท็จจริงดังกล่าวแม้จะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล ถึงแม้ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ก็เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยไม่ จึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 นำข้อเท็จจริงจากรายานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยยกฟ้องจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา แต่เมื่อศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจแน่ใจได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ซึ่งในคดีอาญานั้นแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ยังมีหน้าที่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ว่าจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หรือคดีขาดอายุความแล้วหรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษศาลต้องยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป ศาลจะลงโทษจำเลยได้ก็แต่เมื่อเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมายเท่านั้นและเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคแรก ก็ได้บัญญัติว่าในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่… ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าแม้ในคดีที่มีข้อหาความผิดที่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาคดีไปได้โดยมิต้องสืบพยานก็ตามแต่หากยังไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่แล้ว ศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ มิใช่ต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยเสียทีเดียว นอกจากนี้ในระหว่างพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 228 ยังให้ศาลมีอำนาจโดยพลการที่จะสืบพยานเพิ่มเติมได้ด้วย ดังนั้น เมื่อปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลย เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้งศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าจำเลยพานางสาวเนตรพิศผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของนางสุทินมารดาก็เพื่อประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจริงหรือไม่ โดยส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบให้ และเมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานในประเด็นดังกล่าวแล้วให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพื่อวินิจฉัยต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (1) ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นว่า จำเลยพานางสาวเนตรพิศผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของนางสุทินมารดาเพื่อประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาจริงหรือไม่ แล้วให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี