คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. ได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในชั้นแจ้งข้อหาตามมาตรา 134 ซึ่งความในวรรคหนึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ที่เกิดของผู้ต้องหาเป็นประการแรก ต่อจากนั้นจึงแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ รวมทั้งให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตน ดังนั้น เมื่อเริ่มทำการสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีสภาพบังคับทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 367 ภายใต้หลักเกณฑ์ที่พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคสี่เพื่อให้การสอบสวนดำเนินต่อไปได้ถูกต้องและชอบธรรม ส่วนการถามคำให้การผู้ต้องหาอันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 บัญญัติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสิทธิในการให้ทนายความและบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ ซึ่งเป็นขั้นตอนเมื่อผ่านการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเมื่อเริ่มทำการสอบสวนดังกล่าวข้างต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแจ้งให้ร้อยตำรวจโท ด. เจ้าพนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นว่าจำเลยเป็น ธ. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว หลังจากนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวจำเลยไปสอบถามเนื่องจากจำเลยผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 (1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 367, 58 และบวกโทษจำคุกจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 367 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 15 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานเป็นกรรมเดียวกับฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ ให้ลงโทษฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฐานแกล้งบอกชื่อหรือที่อยู่อันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และฐานนำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อื่นไปใช้แสดงว่าตนเป็นเจ้าของบัตรตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประจำตัวประชาชนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน สำหรับคำขอให้บวกโทษนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดคดีนี้ก่อนศาลจะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษย่อมไม่อาจบวกโทษที่รอไว้ได้ จึงให้ยกคำขอบวกโทษ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าจำเลยซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานแสดงตนต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าเป็นบุคคลอื่น อันเป็นความเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จลงในคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหา ทั้งนี้ โดยจำเลยนำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อื่นไปใช้แสดงว่าตนเป็นเจ้าของบัตร รวมทั้งแกล้งบอกชื่อและที่อยู่อันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในชั้นแจ้งข้อหาตามมาตรา 134 ซึ่งความในวรรคหนึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิดของผู้ต้องหาเป็นประการแรก ต่อจากนั้นจึงแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ รวมทั้งให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตน ดังนั้น เมื่อเริ่มทำการสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหาและผู้ต้องหามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเอง ตามบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งมีสภาพบังคับทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 367 ภายใต้หลักเกณฑ์ที่พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ตน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคสี่ เพื่อให้การสอบสวนดำเนินต่อไปได้อย่างถูกต้องและชอบธรรม ส่วนการถามคำให้การผู้ต้องหาอันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 บัญญัติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสิทธิในการให้ทนายความหรือบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ ซึ่งเป็นขั้นตอนเมื่อผ่านการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเมื่อเริ่มทำการสอบสวนดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติตามฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยแจ้งความเท็จและแจ้งให้ร้อยตำรวจโทธาดา พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นว่าจำเลยเป็นนายธาดา ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว หลังจากนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวจำเลยไปสอบถามเนื่องจากจำเลยผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของนายธาดาเพื่อให้ร้อยตำรวจโทธาดาหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นนายธาดา จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการถามคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 (1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษากลับว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2472/2551 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษคดีนี้ รวมจำคุก 12 เดือน

Share