คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2944/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยต่อไปเท่านั้น มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้จะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล
แม้ตาม พ.ร.บ. วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ก็เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยไม่ จึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยยกฟ้องจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อเท็จจริงตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจแน่ใจได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 ซึ่งในคดีอาญานั้น แม้จำเลยจะให้การรับสภาพ ศาลก็ยังมีหน้าที่จะต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ว่าจะลงโทษได้หรือไม่ ศาลจะลงโทษจำเลยได้ก็แต่เมื่อเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมายเท่านั้น และเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้จำเลยจะให้การรับสภาพ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคแรก ก็ได้บัญญัติว่า ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ แสดงว่าแม้ในคดีที่มีข้อหาความผิดที่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาคดีต่อไปได้โดยมิต้องสืบพยานก็ตาม แต่หากยังไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่แล้วศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ มิใช่ต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยเสียทีเดียว นอกจากนี้ในระหว่างพิจารณา ป.วิ.อ. มาตรา 228 ยังให้ศาลมีอำนาจโดยพลการที่จะสืบพยานเพิ่มเติมได้ด้วย เมื่อปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลย เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่า จำเลยกระทำการตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจริงหรือไม่ โดยส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบให้ และเมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานในประเด็นดังกล่าวแล้ว ให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไปก็ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1) ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เวลา กลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยพรากนางสาวเนตรพิศ เก้าเอี้ยน อายุ ๑๗ ปีเศษ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากนางสุทิน เวียนวัตร ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาและผู้ปกครองดูแลโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยทั้งนี้เพื่อการอนาจาร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ วรรคแรก ลงโทษจำคุก ๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี จำเลยต้องโทษจำคุกเมื่อปี ๒๕๔๐ จึงไม่อาจรอการลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ วินิจฉัยว่าตามรายงานการสืบเสาะและพินิจได้ความว่าการที่จำเลยพาผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายก็เพื่อประสงค์จะพาผู้เยาว์ไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา มิใช่เป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะวินิจฉัยอีกต่อไป แล้วพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ รับฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติมายกฟ้องโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยต่อไปเท่านั้น มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยที่พานางสาวเนตรพิศผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของ นางสุทินมารดาก็เพื่อประสงค์จะพานางสาวเนตรพิศผู้เยาว์ไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยานั่นเอง จึงมิใช่เป็นการพราก ผู้เยาว์ไปเพื่ออนาจาร อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ วรรคแรก ข้อเท็จจริงดังกล่าวแม้จะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล ถึงแม้ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ. ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๓ ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา ๑๑ โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ก็เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกยกฟ้องด้วยไม่ จึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้อง ไม่ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ นำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยยกฟ้องจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา แต่เมื่อศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่ออนาจารอันจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจแน่ใจได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ ซึ่งในคดีอาญานั้นแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ยังมีหน้าที่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ ว่าจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หรือคดีขาดอายุความแล้ว หรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ ศาลต้องยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป ศาลจะต้องลงโทษจำเลยได้ก็แต่เมื่อเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมายเท่านั้นและเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ วรรคแรก ก็ได้บัญญัติว่า ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้เว้นแต่… ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าแม้ในคดีที่มีข้อหาความผิดที่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาคดีไปได้โดยมิต้องสืบพยานก็ตาม แต่หากยังไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่แล้วศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้มิใช่ต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยเสียทีเดียว นอกจากนี้ในระหว่างพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๘ ยังให้ศาลมีอำนาจโดยพลการที่จะสืบพยาน เพิ่มเติมได้ด้วย ดังนั้น เมื่อปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยเพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสืบพยานเพิ่มเติม ในประเด็นที่ว่าจำเลยพานางสาวเนตรพิศผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของนางสุทินมารดาก็เพื่อประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจริงหรือไม่ โดยส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบให้ และเมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานในประเด็นดังกล่าวแล้ว ให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค ๙ เพื่อวินิจฉัยต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๘ (๑) ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ให้ส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นว่า จำเลยพานางสาวเนตรพิศผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของนางสุทินมารดาเพื่อประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาจริงหรือไม่แล้วให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share