แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.สภาการเหมืองแร่ พ.ศ.2526 มาตรา 23 วรรคสอง ที่บัญญัติให้เลขาธิการสภาการเหมืองแร่มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี เป็นหลักการทั่วไป ไม่ได้ห้ามเด็ดขาดว่าสัญญาจ้างผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่จะมีกำหนดระยะเวลาน้อยกว่า 4 ปี ไม่ได้ แต่กลับบัญญัติให้เลขธิการสภาการเหมืองแร่อาจต้องพ้นตำแหน่งก่อนครบวาระไว้หลายประการ สัญญาจ้างโจทก์ให้เป็นลูกจ้างตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่มีกำหนด 1 ปี จึงไม่ขัดต่อมาตรา 23 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
แม้กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) ระบุว่ามิให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างก็ตาม แต่หากนายจ้างนั้นกำหนดข้อบังคับให้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างอันมีผลให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวก็กระทำได้ ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดให้จ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานจึงมีผลบังคับใช้
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้ค่าชดเชยหากโจทก์ตกลงรับข้อเสนอให้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ทราบ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้าง ซึ่งข้อ 2.1 ระบุว่าลูกจ้าง (โจทก์) จะไม่ได้รับค่าชดเชย แสดงว่าโจทก์สมัครใจทำสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับค่าชดเชย อันเป็นการไม่ใช้บทบัญญัติ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 ทั้งนี้โจทก์ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสามารถตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ได้ สัญญาจ้างในส่วนค่าชดเชยชอบด้วยกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 118,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ค่าชดเชย 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง กับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ.2526 มาตรา 23 วรรคสอง โดยให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ต่อไปจนครบ 4 ปี หรือจ่ายค่าเสียหาย 2,160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ.2526 จำเลยที่ 1 มีคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและดำเนินงานของสภาการเหมืองแร่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาการเหมืองแร่ และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ต้องแต่งตั้งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ขึ้นหนึ่งคนเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการของสภาการเหมืองแร่ และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการสภาการเหมืองแร่แต่งตั้งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่มาแล้ว 3 คน ก่อนที่จะแต่งตั้งโจทก์เป็นเลขาธิการสภาการเหมืองแร่นั้น คณะกรรมการสภาการเหมืองแร่แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ขึ้น 5 คน คณะกรรมการสรรหาสัมภาษณ์โจทก์และแจ้งต่อโจทก์ว่า เนื่องจากโจทก์ไม่เคยทำงานในวงการเหมืองแร่มาก่อน จึงจะจ้างโจทก์ไว้เป็นเวลา 1 ปี ก่อน เมื่อครบ 1 ปี จะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่เพื่อพิจารณาว่าจะจ้างต่อไปอีกหรือไม่ คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อโจทก์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ในการประชุมคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ครั้งที่ 1/2551 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ประชุมมีมติว่า 1. ให้ทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551 สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน 2. ตลอดสัญญาจ้างได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 60,000 บาท โดยไม่ได้รับค่าชดเชย ค่าครองชีพ เงินสะสมพนักงาน ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด 3. ให้คณะกรรมการบริหารกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ต่อไป สาเหตุที่คณะกรรมการสภาการเหมืองแร่มีมติให้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่เห็นว่าโจทก์ไม่มีความรู้ในทางอุตสาหกรรมเหมืองแร่หรือธุรกิจเหมืองแร่มาก่อน โจทก์สำเร็จการศึกษาทางนิติศาสตร์ ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 โจทก์ทำงานเป็นผู้รับเหมาและผู้จัดซื้อจัดจ้างให้แก่หน่วยงานของทางราชการ หลังจากที่คณะกรรมการสภาการเหมืองแร่มีมติดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่มีหนังสือที่ ว 0337/2551 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 แจ้งโจทก์ว่าคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ตกลงรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่โดยมีเงื่อนไข เงื่อนเวลาและผลประโยชน์ตรงกับมติที่ประชุมข้างต้น วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 โจทก์ทำสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่า ข้อ 1. นายจ้างตกลงว่าจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสภาการเหมืองแร่ โดยให้ทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ เป็นเวลา 1 ปี เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551 สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ทดลองงาน 120 วัน แล้วจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ในวันทำสัญญานี้ลูกจ้างได้ทราบกฎ ระเบียบ และข้อบังคับของสภาการเหมืองแร่เป็นที่เข้าใจดีแล้ว ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 1 เดือน ข้อ 2. ตลอดสัญญานี้นายจ้างตกลงให้ค่าจ้างและลูกจ้างตกลงรับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงดังนี้ 2.1 ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าชดเชย ค่าครองชีพ เงินสะสมพนักงาน(อัตรา 7 % ของเงินเดือน) ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด…ข้อ 5 ในระหว่างสัญญาหากลูกจ้างขาดคุณสมบัติ ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ.2526 และระเบียบข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ หรือสัญญาที่ได้ตกลงไว้กับนายจ้าง นายจ้างจะมีหนังสือแจ้งเลิกจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่มีการจ่ายค่าชดเชยหรือค่าทดแทนใด ๆ ต่อมาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่มีคำสั่งสภาการเหมืองแร่ที่ 1/2551 เรื่อง แต่งตั้งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ แต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551 สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง ต่อมาคณะกรรมการสภาการเหมืองแร่ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับการแต่งตั้งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ในการประชุมครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และมีมติว่าสมควรให้มีการสรรหาเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ใหม่ และไม่จำกัดสิทธิเลขาธิการสภาการเหมืองแร่คนปัจจุบันที่จะสมัครเข้ามาด้วย โดยมอบให้คณะกรรมการบริหารดำเนินการในการสรรหา และในกรณีที่ขาดการต่อเนื่องของการปฏิบัติงานในหน้าที่เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ที่ประชุมมอบหมายให้นายชูศักดิ์ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่ออกคำสั่งสภาการเหมืองแร่ที่ 4/2552 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทำการแทนเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ อ้างเหตุว่าเนื่องจากสัญญาจ้างโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อให้การดำเนินงานของสภาการเหมืองแร่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงแต่งตั้งนายชูศักดิ์ เป็นผู้ทำการแทนเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 เป็นต้นไป โจทก์ทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 สัญญาจ้างก็สิ้นสุดลง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปอีก
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่าพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ.2526 มาตรา 23 วรรคสอง บัญญัติว่า เลขาธิการสภาการเหมืองแร่มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี เมื่อดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่สัญญาจ้างกำหนดว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่เพียง 1 ปี เป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าว ตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่ครบ 4 ปี เห็นว่า การที่บทกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่าเลขาธิการสภาการเหมืองแร่มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นั้น เป็นหลักการทั่วไป กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดห้ามเด็ดขาดว่าสัญญาจ้างผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่จะมีกำหนดระยะเวลาน้อยกว่า 4 ปี ไม่ได้ แต่กลับบัญญัติกรณีที่เลขาธิการสภาการเหมืองแร่อาจต้องพ้นตำแหน่งก่อนครบวาระไว้หลายประการ สัญญาจ้างจึงไม่ขัดต่อบทกฎหมายข้างต้น หาตกเป็นโมฆะไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่าตามข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2549 ประกาศใช้ว่าด้วยการจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานไว้แล้ว เท่ากับจำเลยที่ 1 ได้สละการยกเว้นตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์นั้น เห็นว่า แม้กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) ระบุว่ามิให้ใช้บทบัญญัติหมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างก็ตาม แต่หากนายจ้างดังกล่าวเช่นจำเลยที่ 1 จะกำหนดข้อบังคับให้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างอันมีผลทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ก็กระทำได้ ดังเช่นข้อบังคับสภาการเหมืองแร่ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2549 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (7) และ (8) แห่งพระราชบัญญัติสภาการเหมืองแร่ พ.ศ.2526 กำหนดให้จ่ายค่าชดเชยแก่พนักงาน จึงมีผลบังคับใช้ แต่กรณีของโจทก์ปรากฏว่าในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 แจ้งว่าโจทก์ไม่ได้รับค่าชดเชย หากโจทก์ตกลงรับข้อเสนอให้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ทราบ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้าง ซึ่งข้อ 2.1 ระบุว่าลูกจ้าง (โจทก์) จะไม่ได้รับค่าชดเชย แสดงว่าโจทก์สมัครใจทำสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับค่าชดเชย อันเป็นการไม่ใช้บทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึง มาตรา 122 ทั้งนี้โจทก์ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสามารถตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ได้ สัญญาจ้างในส่วนค่าชดเชย จึงชอบด้วยกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย กรณีมิใช่จำเลยที่ 1 ออกข้อบังคับให้จ่ายค่าชดเชยอันเป็นการสละการยกเว้นตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งจะทำให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์นอกจากนี้ไม่ทำให้ผลการวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน