คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10288/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ได้ความว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 229/2536 ของศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และคู่ความในคดีแพ่งดังกล่าวกับคู่ความคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน แต่ในเรื่องประเด็นข้อพิพาทนั้น ประเด็นวินิจฉัยในคดีเรื่องก่อนมีอยู่ว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพราะจัดหาทางภาระจำยอมไม่ได้ภายในกำหนดตามสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ก่อนหรือไม่ ต่างกับประเด็นวินิจฉัยในคดีเรื่องนี้ที่มีอยู่ว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินเพราะโอนขายที่ดินที่ตกลงจะขายตามสัญญาให้บุคคลภายนอกไปเสียก่อนหรือไม่ ดังนั้น แม้ประเด็นทั้งสองคดีจะเป็นเรื่องจำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อขายหรือไม่คล้ายๆ กัน แต่ในเมื่อคดีนี้จะต้องวินิจฉัยเรื่องการผิดสัญญาโดยอาศัยเหตุที่ว่าจำเลยทั้งหกโอนขายที่ดินที่ตกลงจะขายให้บุคคลภายนอกไปมิได้อาศัยเหตุเรื่องจำเลยจัดหาทางภาระจำยอมไม่ไดอย่างในคดีก่อน ซึ่งเป็นเหตุใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุเดิม จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 229/2536 ของศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินมัดจำจำนวน 5,000,000 บาท ค่าที่ดินล่วงหน้าจำนวน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ยในการเลื่อนกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 1,531,706 บาท รวมเป็นเงิน 8,531,716 บาท และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 8,531,716 บาท นับแต่วันที่จำเลยทั้งหกได้รับเงินจากโจทก์เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ โดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 3,199,393.50 บาท และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าปรับจำนวน 10,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 8,876,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 8,276,430 บาท นับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือสัญญาวางมัดจำที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 271 และ 5285 ตำบลนาดี (บางปิ้ง) อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่รวม 28 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา จากจำเลยทั้งหกในราคา 23,500,000 บาท โจทก์วางมัดจำไว้ 5,000,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ คือวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2534 หากโจทก์ไม่พร้อมที่จะชำระเงิน จำเลยทั้งหกยอมให้เลื่อนกำหนดได้ไม่เกิน 1 ปี โดยโจทก์จะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่จำเลยทั้งหกเดือนละ 127,643 บาท ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์กับจำเลยทั้งหกตกลงเลื่อนกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือออกไป 1 ปี เป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 โดยโจทก์ยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่จำเลยทั้งหกตามอัตราที่ตกลงกันไว้ โจทก์ได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางขุนเทียน รวม 12 ฉบับ จ่ายดอกเบี้ยให้แก่จำเลยทั้งหกเป็นรายเดือน และในวันเดียวกันจำเลยทั้งหกได้เบิกเงินค่าที่ดินพิพาทล่วงหน้าไปจากโจทก์ 2,000 ,000 บาท ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 107/2535 คดีหมายเลขแดงที่ 229/2536 ของศาลชั้นต้น ว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาไม่จัดหาทางหรือถนนภาระจำยอมให้ได้ภายในกำหนดตามสัญญา โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญา ขอเรียกเงินที่จำเลยทั้งหกรับไปคืนมาทั้งหมดพร้อมกับเรียกค่าเสียหาย คดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 4793/2539 ของศาลฎีกา ซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์เลิกสัญญาไม่ชอบ สัญญายังมีผลผูกพัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งหกคืนเงินมัดจำและเงินค่าที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งหกเบิกล่วงหน้าไป แต่ให้จำเลยทั้งหกชำระค่าปรับจากการที่จัดหาทางภาระจำยอมล่าช้าให้แก่โจทก์ 295,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 229/2536 ของศาลชั้นต้น หรือไม่ ที่จำเลยทั้งหกฎีกาว่าเป็นฟ้องซ้ำเพราะคู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเรื่องก่อนกับคดีเรื่องนี้เป็นคู่ความเดียวกัน คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือไม่ และคำขอบังคับก็เป็นเช่นเดียวกับคดีเรื่องก่อนนั้น เห็นว่า ในเรื่องฟ้องซ้ำนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า คดีที่ด้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ได้ความว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 229/2536 ของศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วและคู่ความในคดีแพ่งดังกล่าวกับคู่ความคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน แต่ในเรื่องประด็นข้อพิพาทนั้น ประเด็นวินิจฉัยในคดีเรื่องก่อนมีอยู่ว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพราะจัดหาทางภาระจำยอมไม่ได้ภายในกำหนดตามสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ก่อนหรือไม่ ต่างกับประเด็นวินิจฉัยในคดีเรื่องนี้ที่มีอยู่ว่า จำเลยบอกเลิกสัญยาได้ก่อนหรือไม่ ต่างกับประเด็นวินิจฉัยในดคีเรื่องนี้ที่มีอยู่ว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพราะโอนขายที่ดินที่ตกลงจะขายตามสัญญาให้บุคคลภายนอกไปเสียก่อนหรือไม่ ดังนั้น แม้ประเด็นทั้งสองคดีจะเป็นเรื่องจำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่คล้ายๆ กัน แต่ในเมื่อคดีนี้จะต้องวินิจฉัยเรื่องการผิดสัญญาโดยอาศัยเหตุที่ว่า จำเลยทั้งหกโอนขายที่ดินที่ตกลงจะขายให้บุคคลภายนอกไปมิได้อาศัยเหตุเรื่องจำเลยจัดหาทางภาระจำยอมไม่ได้อย่างในคดีก่อน ซึ่งเป็นเหตุใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุเดม จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 229/2536 ของศาลชั้นต้น ฎีกาข้อแรกของจำเลยทั้งหกฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เพราะโอนขายที่ดินที่ตกลงจะขายตามสัญญาให้บุคคลภายนอกไปเสียก่อนหรือไม่ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ทำไว้ ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายตกลงเลื่อนกำหนดวันโอนออกไปนั้น จำเลยทั้งหกจะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นคดีเรื่องก่อนในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2535 ก่อนจะถึงกำหนดวันโอนเพียง 4 วัน เห็นว่า แม้โจทก์จะได้บอกเลิกสัญญาไปก่อนแล้วก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องโดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งหกผิดสัญญาไม่จัดหาทางหรือถนนภาระจำยอมให้ได้ภายในกำหนดแต่ในที่สุดศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าโจทก์เลิกสัญญาไม่ชอบ สัญญายังมีผลผูกพัน เมื่อสัญญาดังกล่าวมีกำหนดแน่นอนให้โจทก์ไปรับโอนที่ดินและชำระราคาค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้จำเลยทั้งหกในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 แล้วโจทก์ไม่ได้รับโอนโดยตัวโจทก์เบิกความว่า ที่โจทก์ไม่ได้ไปรับโอนเนื่องจากเข้าใจว่าได้มีการบอกเลิกสัญญากันแล้ว เมื่อสัญญายังไม่เลิกจึงต้องถือว่าโจทก์ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาอยู่ มิใช่ว่าเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งหกแล้วจะทำให้โจทก์หมดหน้าที่ไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาอีกต่อไป มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นว่า หากฝ่ายใดไม่ต้องการจะปฏิบัติตามสัญญาก็หาเหตุฟ้องคดีเสียก่อนที่จะถึงกำหนดแล้วรอดูผลอยู่จนกว่าจะถึงที่สุดซึ่งจะต้องใช้เวลานานหลายปี เป็นที่เสียหายแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งต้องขาดประโยชน์ตามสัญญาไป ซึ่งถ้าโจทก์ไปรับโอนที่ดินเมื่อถึงกำหนดวันโอนตามสัญญา จำเลยทั้งหกจะได้รับเงินค่าที่ดินที่เหลืออยู่ เป็นจำนวนมากถึง 16,500,000 บาท จำเลยทั้งหกนำสืบว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยทั้งหกไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรอจดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งมีทางภาระจำยอมอยู่พร้อมแล้วให้โจทก์รออยู่จนถึงเวลา 16.30 นาฬิกา โจทก์ไม่ไปจำเลยทั้งหกจึงไปแจ้งความเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาครตามบันทึกประจำวันข้อ 13 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งหกไปรออยู่จริง แต่โจทก์ไม่ไป เมื่อตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินข้อ 9 ระบุไว้ว่า ถ้าผู้จะซื้อผิดสัญญาไม่ไปจดทะเบียนรับซื้อตามกำหนดยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำ ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าสัญญาที่มีอยู่ต้องถือว่าเป็นอันเลิกกัน เพราะถึงขั้นริบมัดจำแล้วย่อมไม่สมควรจะต้องมีการปฏิบัติตามสัญญาอย่างใดต่อไปอีก คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีความเป็นอิสระพ้นจากพันธะข้อผูกพันตามสัญญา โจทก์ต้องถูกริบมัดจำและจำเลยทั้งหกก็สาสมารถจะนำที่ดินตามสัญญาไปขายให้ผู้อื่นได้ต่อไป ได้ความว่าจำเลยทั้งหกขายี่ดินให้บุคคลภายนอกในวันที่ 26 เมษายน 2538 หลังจากวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 อันเป็นวันที่ถือได้ว่าสัญญาเลิกกันแล้วดังกล่าวข้างต้นถึง 3 ปี จึงน่าจะเป็นตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามติงว่าเหตุที่จำเลยทั้งหกขายที่ดินไปในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาเพราะถือว่าสัญญาสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 ที่โจทก์อ้างเอาเหตุในการที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยทั้งหกให้ไปดำเนินการโอนที่ดินตามสัญญาในวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 แล้วจำเลยทั้งหกไม่ไปเป็นการผิดสัญญานั้นไม่ถูกต้อง เพราะสัญญาเลิกกันไปแล้ว โจทก์กำหนดวันโอนใหม่ให้เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ฝ่ายเดียว โดยถือว่าศาลฎีกาเพิ่งจะพิพากษาคดีเรื่องก่อนถึงที่สุดไม่ได้ เมื่อศาลฎีกาชี้จัดว่าโจทก์เลิกสัญญาไม่ชอบ สัญญายังมีผลผูกพันย่อมต้องถือตามข้อตกลงในสัญญาที่ทำไว้แต่เดิมว่า วันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคือวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งผ่านพ้นไปแล้วโดยโจทก์ไม่ไป มิใช่วันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ที่โจทก์กำหนดใหม่ที่จำเลยทั้งหกไม่ไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครในวันที่โจทก์กำหนดดังกล่าวก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการผิดนัดผิดสัญญาอย่างใดอีกเพราะสัญญาเลิกกันไปแล้ว ทั้งการที่จำเลยทั้งหกโอนขายที่ดินให้บุคคลภายนอกหลังจากสัญญาเลิกกันแล้วนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งหกสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีสัญญาอย่างใดผูกพันจำเลยทั้งหกอยู่อีกแล้ว มิใช่ว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะความผิดของจำเลยทั้งหกดังที่สาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งหกเลิกกันแล้วตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์และจำเลยทั้งหกจำต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยทั้งหกไม่ต้องคืนเงินมัดจำ 5,000,000 บาท แก่โจทก์เพราะจำเลยทั้งหกมีสิทธิริบได้ตามสัญญาอยู่แล้ว แต่สำหรับเงินค่าที่ดิน 2,000,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาค่าที่ดินส่วนที่เหลือและจำเลยทั้งหกควรจะได้รับจากโจทก์ในวันโอนที่ดิน แต่จำเลยทั้งหกมาขอเบิกล่วงหน้าไปก่อนนั้นจำเลยทั้งหกจะต้องคืนให้โจทก์ไม่มีสิทธิอย่างใดที่จะเอาไว้ได้ เมื่อยังไม่ได้คืนโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 นับตั้งแต่วันที่สัญญาเลิกกันในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นมา ส่วนเงินค่าดอกเบี้ยในการเลื่อนกำหนดการโอนที่ดินจำนวน 1,531,716 บาท ที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนมาด้วย เห็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายขอเลื่อนกำหนดการโอนที่ดินไป 1 ปี และยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่จำเลยทั้งหกตามที่ตกลงไว้ในสัญญาจะซื้อขายข้อ 8 เป็นการเลื่อนเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง โจทก์ได้รับประโยชน์จากการที่เลื่อนวันโอนออกไป 1 ปี นั้นครบถ้วนแล้ว เมื่อครบกำหนดถึงวันโอน โจทก์ไม่ไปรับโอนที่ดินจนสัญญาจะซื้อจะขายต้องเลิกกันเพราะความผิดของโจทก์ มิใช่ความผิดของจำเลยทั้งหก โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าดอกเบี้ยที่ชำระให้แก่จำเลยทั้งหกไปดังกล่าวคืน สำหรับเงินค่าปรับที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหกใช้ให้แก่โจทก์ 10,000,000 บาท เมื่อฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับ จำเลยทั้งหกไม่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าปรับแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยทั้งหกฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

Share