คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1387/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง หมายรวมถึงบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 โดยเฉพาะมาตรา 5 (2) ได้แก่ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ เมื่อผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุเหนื่อยหอบ มิใช่กรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ตาม มาตรา 5 (2) แม้ผู้ร้องจะเป็นบุตรของผู้ตาย ก็ไม่อาจเข้ามาจัดการแทนผู้เสียหายโดยการยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 236, 288, 289
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวสังเวียน บุตรนายม่าหมาดผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าดูแลรักษาผู้เสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท ค่าขาดรายได้เนื่องจากการทำงานของผู้เสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 52 (1) และ 236 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว คดีส่วนแพ่งให้จำเลยชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องคำขอส่วนแพ่งอื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27พฤศจิกายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉับว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2546 นายม่าหมาดผู้เสียหาย ประสบอุบัติเหตุไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ต้องนอนอยู่กับที่และให้อาหารทางสายยาง ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายเกิดอาการอาเจียน เหนื่อยหอบ ญาติผู้เสียหายนำผู้เสียหายส่งโรงพยาบาลทับปุด แพทย์ตรวจพบว่าผู้เสียหายได้รับสารพิษประเภทยาฆ่าแมลงชนิดกลุ่มคาบาร์เมตเข้าสู่ร่างกาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ที่ใส่สารพิษเข้าไปในร่างกายผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความเป็นลำดับขั้นตอนตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีเหตุผลเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะนางสด้าเบิกความว่าเห็นจำเลยเดินไปที่ผู้เสียหายนอนอยู่และก้มทำบางอย่างอยู่ที่บริเวณใบหน้าผู้เสียหายจึงเรียกนางสาวนารีรัตน์ บุตรเข้าไปดู ซึ่งนางสาวนารีรัตน์เบิกความต่อเนื่องว่าเมื่อนางสด้ามารดาเรียกให้ไปดูผู้เสียหาย พยานรีบวิ่งเข้าไปดูทันทีเห็นสายยางซึ่งเป็นท่อให้อาหารที่อยู่ติดตัวผู้เสียหายมีลักษณะสีดำและมีสีดำอยู่บริเวณหมอน ผ้าขนหนู และผ้าปิดแผลที่บ่าผู้เสียหาย ทั้งนางเรวดีกับนางสังเวียนก็เบิกความว่าเมื่อพยานทั้งสองวิ่งเข้าไปดูผู้เสียหายเห็นมีสีดำติดอยู่บริเวณใบหน้าและมีร่องรอยการเช็ดออกไปก่อนหน้านี้ นอกจากภริยา บุตร และญาติของผู้เสียหายแล้ว โจทก์ยังมีนางสาวถนอม เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยโคกไคร เบิกความว่า เมื่อพยานไปบ้านผู้เสียหายพบจำเลยอยู่ด้วย พยานขอจำเลยดูของเหลวที่ผู้เสียหายอาเจียนออกมา จำเลยบอกว่าได้ดึงสายยางซึ่งเป็นท่อให้อาหารออกไปก่อนแล้ว และเอาสายยางดังกล่าวไปทิ้ง พฤติการณ์ที่ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลผู้เสียหาย แต่จำเลยเดินทางมายังบ้านผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุหนึ่งครั้ง และในวันเกิดเหตุจำเลยเดินทางมายังบ้านผู้เสียหายอีกสองครั้ง โดยไม่ปรากฏว่าญาติของผู้เสียหายติดต่อขอให้จำเลยมาดูแลผู้เสียหายแต่อย่างใด นับเป็นข้อพิรุธของจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงเป็นพยานแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ให้สารอาหารประกอบยาฆ่าแมลงดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายผู้เสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” ซึ่งผู้เสียหายนั้น หมายรวมถึงบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 โดยเฉพาะมาตรา 5 (2) ได้แก่บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ คดีนี้ปรากฏตามมรณบัตรแนบท้ายคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของนางสังเวียน ผู้ร้อง ซึ่งเป็นบุตรนายม่าหมาด ผู้เสียหาย ว่า ผู้เสียหายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2550 ด้วยสาเหตุเหนื่อยหอบ ดังนั้น จึงมิใช่กรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) แม้นางสังเวียนจะเป็นบุตรของผู้ตายก็ไม่อาจเข้ามาจัดการแทนผู้เสียหายโดยการยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้อง และศาลล่างทั้งสองพิพากษาในคดีส่วนแพ่งให้จำเลยชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 44/1 อันเป็นการไม่ชอบปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของนางสาวสังเวียนผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share