คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3240/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

งานสร้างสรรค์ที่ผู้รับจ้างทำขึ้นมาจะตกเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างก็ต่อเมื่อการว่าจ้างนั้นมีผลสมบูรณ์ผูกพันกันโดยชอบ โจทก์สร้างสรรค์งานภาพเขียนขึ้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่ามีเหตุมาจากการที่จำเลยมาติดต่อกับโจทก์เพื่อให้โจทก์จัดทำป้ายโฆษณาการคล้องช้างในงานอยุธยามรดกโลกก็ตาม แต่ในชั้นแรกโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องราคาค่าจ้างรวมทั้งรายละเอียดของภาพโฆษณา ต่อมาโจทก์ได้เขียนภาพต้นแบบขึ้นนำไปให้จำเลยพิจารณาจำเลยก็ขอให้ปรับปรุงรายละเอียดบางประการ จากนั้นโจทก์จึงเสนอราคาค่าจ้างแต่จำเลยเห็นว่าแพงไปและตกลงกันไม่ได้ จำเลยจึงไม่ว่าจ้างโจทก์ทำป้ายโฆษณา ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยยังตกลงกันในเรื่องสาระสำคัญของสัญญาไม่ได้ การว่าจ้างหรือสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เกิดขึ้น จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ งานสร้างสรรค์ภาพ “พิธีคล้องช้าง” ที่โจทก์ทำขึ้นจึงหาตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ แต่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงผู้เดียว
ได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการกระทำเพื่อโฆษณาให้มีผู้มาเที่ยวงานอยุธยามรดกโลก แม้จำเลยจะได้ผลประโยชน์จากการที่มีผู้มาเที่ยวงานชมพิธีการคล้องช้างของจำเลยก็ตาม จำเลยก็มิได้นำภาพการคล้องช้างในป้ายโฆษณาที่จำเลยได้ดำเนินการจัดทำขึ้นไปทำการค้าขายหากำไรโดยตรง การกระทำของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง จึงปรับบทลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 69 วรรคแรก เท่านั้น
แม้ภาพการคล้องช้างที่จำเลยดำเนินการจัดทำเป็นป้ายโฆษณานำไปติดตั้งโฆษณานั้นจะมีถึง 4 ป้าย ด้วยกัน แต่ในการจัดทำป้ายโฆษณาทั้ง 4 ป้าย และนำไปติดตั้งโฆษณา 4 แห่ง นั้น จำเลยมีวัตถุประสงค์เดียวคือ เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานอยุธยามรดกโลก จึงเป็นกรณีมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยเจตนาเดียวเท่านั้น เพียงแต่ได้มีการทำป้ายโฆษณาเพื่อนำออกโฆษณาเผยแพร่หลายแผ่นป้ายด้วยกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15, 27, 69 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันชั้นนี้ฟังได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของปางช้างอยุธยา แล เพนียด ได้เข้าร่วมจัดงานอยุธยามรดกโลกกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2540 โดยจำเลยมีส่วนรับผิดชอบในการจัดแสดงพิธีคล้องช้างก่อนจัดงานต้องมีการติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เพื่อชักชวนประชาชนมาเที่ยวชมงาน จำเลยให้นายคึกฤทธิ์หรือขาวซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยไปติดต่อหาผู้รับจ้างเขียนภาพการคล้องช้างทำแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ นายคึกฤทธิ์ติดต่อกับโจทก์ โจทก์จึงได้เขียนภาพการคล้องช้างต้นแบบลายเส้นและลงสีตามภาพขึ้น โดยเสนอราคาค่าจ้างทำป้ายโฆษณาป้ายละ 50,000 บาท แต่ตกลงราคากับจำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ทำแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าว ต่อมาปรากฏว่ามีแผ่นป้ายโฆษณาภาพการคล้องช้างโฆษณางานอยุธยามรดกโลกติดตั้งอยู่ที่สถานที่ต่าง ๆ 4 แห่ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า โจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานภาพเขียน “พิธีคล้องช้าง” หรือไม่ เห็นได้ว่า งานสร้างสรรค์ที่ผู้รับจ้างทำขึ้นมาจะตกเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างก็ต่อเมื่อการว่าจ้างนั้นมีผลสมบูรณ์ผูกพันกันโดยชอบ การที่โจทก์สร้างสรรค์งานภาพเขียนขึ้นมานั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่ามีเหตุมาจากการที่จำเลยมาติดต่อกับโจทก์เพื่อให้โจทก์จัดทำป้ายโฆษณาการคล้องช้างในงานอยุธยามรดกโลกก็ตาม แต่ในชั้นแรกโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องที่สำคัญคือราคาค่าจ้างรวมทั้งรายละเอียดของภาพโฆษณา ต่อมาโจทก์ได้เขียนภาพต้นแบบนำไปให้จำเลยพิจารณา จำเลยก็ขอให้ปรับปรุงรายละเอียดบางประการ จากนั้นโจทก์จึงเสนอราคาค่าจ้าง แต่จำเลยเห็นว่าแพงไปและตกลงกันไม่ได้ การว่าจ้างหรือสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่เกิดขึ้น จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ งานสร้างสรรค์ภาพ “พิธีคล้องช้าง” ที่โจทก์ทำขึ้นจึงหาตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอีกว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์งานตามภาพเขียนของโจทก์อันเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เนื่องจากคู่ความต่างได้นำสืบพยานหลักฐานมาโดยสมบูรณ์แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่าเพื่อไม่ให้คดีต้องล่าช้าจึงควรวินิจฉัยให้เสร็จเด็ดขาดไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก่อน ตามปัญหาเห็นว่า ภาพการคล้องช้างที่ทำเป็นป้ายโฆษณานำไปติดตั้งที่หน้าปางช้างของจำเลยและสถานที่ต่าง ๆ รวม 4 แห่ง เพื่อการโฆษณางานอยุธยามรดกโลกนั้น จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดทำขึ้นโดยการถือเอาภาพ “พิธีคล้องช้าง” ของโจทก์เป็นต้นแบบนั่นเอง ซึ่งถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดทำป้ายโฆษณา 4 ป้าย นี้ขึ้นโดยดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน แม้ผู้เขียนภาพป้ายโฆษณาและนำไปติดตั้งโฆษณาไม่รู้ว่าภาพ “พิธีคล้องช้าง” เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่จำเลยเป็นผู้ทราบดีว่างานดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยก็ดำเนินการจัดทำป้ายโฆษณานำไปติดตั้งโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่ได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการกระทำเพื่อโฆษณาให้มีผู้มาเที่ยวงานอยุธยามรดกโลก แม้จำเลยจะได้ผลประโยชน์จากการที่มีผู้มาเที่ยวงานชมพิธีการคล้องช้างของจำเลยก็ตาม จำเลยก็มิได้นำภาพการคล้องช้างในป้ายโฆษณาที่จำเลยได้ดำเนินการจัดทำขึ้นไปทำการค้าขายหากำไรโดยตรง การกระทำของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง จึงปรับบทลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 69 วรรคแรก เท่านั้น ส่วนการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ภาพการคล้องช้างที่จำเลยดำเนินการจัดทำเป็นป้ายโฆษณานำไปติดตั้งโฆษณานั้นจะมีถึง 4 ป้าย ด้วยกันก็ตาม แต่ในการจัดทำป้ายโฆษณาทั้ง 4 ป้าย และนำไปติดตั้งโฆษณา 4 แห่ง นั้น จำเลยมีวัตถุประสงค์เดียวคือ เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานอยุธยามรดกโลก จึงเป็นกรณีมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยเจตนาเดียวเท่านั้น เพียงแต่ได้มีการทำป้ายโฆษณาเพื่อนำออกโฆษณาเผยแพร่หลายแผ่นป้ายด้วยกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) (2), 69 วรรคแรก ให้ปรับ 50,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30.

Share