แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเป็นผู้จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศพร้อมอุปกรณ์และอะไหล่กับโจทก์โดยตกลงรับซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์เพื่อไปจำหน่ายอีกต่อหนึ่งและหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระ ก็เป็นหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศอุปกรณ์และอะไหล่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการค้าขายของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าสินค้าของโจทก์ จึงมีกำหนดอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ “เทรน” ในประเทศไทย เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2536 โจทก์ทำสัญญาตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อดังกล่าวในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 จะสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องชำระราคาสินค้าภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวเมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ซื้อเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์และอะไหล่จากโจทก์หลายครั้งหลายรายการรวมเป็นเงิน 397,719 บาท โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 เรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระราคาสินค้าภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้า ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 677,211.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 397,719 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันครบกำหนดชำระราคาสินค้า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องจึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ และตามที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญารับเป็นผู้จำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ “เทรน” กับโจทก์โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมอุปกรณ์และอะไหล่จากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่าย และตกลงจำชำระค่าสินค้าดังกล่าวภายใน 60 วัน นับจากวันที่จำเลยที่ 1 รับสินค้าที่ซื้อไป รายละเอียดปรากฏตามสัญญาตั้งผู้จำหน่ายเอกสารหมาย จ.5 และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2538 โจทก์ได้ส่งสินค้าเครื่องปรับอากาศตามคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจะครบกำหนดชำระค่าสินค้าในวันที่ 29 สิงหาคม 2539 เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ซื้อไปจากโจทก์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2543 เป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินค้าดังกล่าวมีกำหนดอายุความห้าปีตามที่โจทก์ฎีกาหรือสองปีตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเป็นผู้จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศพร้อมอุปกรณ์และอะไหล่กับโจทก์โดยตกลงรับซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์เพื่อไปจำหน่ายอีกต่อหนึ่งตามสัญญาตั้งผู้จำหน่ายเอกสารหมาย จ.5 และหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระ ก็เป็นหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์และอะไหล่ที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการค้าขายของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าสินค้าตามคำฟ้องของโจทก์ จึงมีกำหนดอายุความห้าปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) เมื่อหนี้ค่าสินค้าตามคำฟ้องครบกำหนดชำระในวันที่ 29 สิงหาคม 2538 และโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2543 จึงยังอยู่ภายในกำหนดอายุความห้าปี สิทธิเรียกร้องค่าสินค้าตามฟ้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีกำหนดอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) และขาดอายุความแล้วนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องนั้น เนื่องจากคดียังมีประเด็นอื่นตามที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้ซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัย เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาในประเด็นที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยดังกล่าวก่อน”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาในประเด็นอื่นที่ยังมิได้วินิจฉัยตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่