คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8103/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชเป็นภูมิลำเนาของจำเลยในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 แต่ ป.พ.พ. มาตรา 22 (1) มิได้บัญญัติให้ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลท้องที่ที่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจต้องรับชำระคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เพียงแต่บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นจะรับชำระคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดทุ่งสง และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งสงท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นเป็นผู้สอบสวน จึงอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดทุ่งสงได้ การที่โจทก์ไม่อาจโอนตัวจำเลยไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดทุ่งสงเพื่อฟ้องคดี เพราะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยในการย้ายจำเลยเป็นเพียงการคาดการณ์เอาเองของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น จึงไม่สมควรให้ศาลชั้นต้นรับชำระหนี้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของนายภูริพงศ์ วงศ์เมฆ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนางสาวนพวรรณ บัวหลวง ผู้เสียหาย หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันรับของโจรรถจักรยานยนต์ดังกล่าว เหตุเกิดที่ตำบลชะมาย อำเภอทุ่งสง และตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสามถูกจำคุกที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช มีเหตุจำเป็นไม่อาจโอนตัวจำเลยทั้งสามไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดทุ่งสงเพื่อฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดทุ่งสง ซึ่งเป็นศาลที่ความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจได้ เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยในการย้ายจำเลยทั้งสาม จึงขอดำเนินคดีจำเลยทั้งสามที่ศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 (1) ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7), 357, 83 นับโทษจำเลยทั้งสามต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 (1) ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะรับชำระคดีนี้หรือไม่ประกอบกับความผิดคดีนี้เกิดในเขตอำนาจของศาลจังหวัดทุ่งสง ข้ออ้างของโจทก์เป็นเพียงข้อขัดข้องในทางปฏิบัติ จึงมีคำสั่งไม่รับชำระคดีนี้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช) จำเลยทั้งสามต้องโทษจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช) ซึ่งเป็นศาลท้องที่ที่จำเลยทั้งสามมีที่อยู่ในเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 (1) ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชจะเป็นภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสามในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 เพราะจำเลยทั้งสามมีที่อยู่ในเขตอำนาจต้องรับชำระคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 (1) มิได้บัญญัติให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลท้องที่ที่จำเลยทั้งสามมีที่อยู่ในเขตอำนาจต้องรับชำระคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ กฎหมายดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นจะรับชำระคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดทุ่งสง และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งสงท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นเป็นผู้สอบสวน จึงอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดทุ่งสงได้ ที่โจทก์อ้างว่าไม่อาจโอนตัวจำเลยทั้งสามไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดทุ่งสงเพื่อฟ้องคดี เพราะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยในการย้ายจำเลยทั้งสามนั้น ก็คงเป็นเพียงการคาดการณ์เอาเองของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น จึงไม่สมควรให้ศาลชั้นต้นรับชำระคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้”
พิพากษายืน

Share