คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1091/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานบริษัทจำเลยอ้างว่าได้รับมอบหมายจากบริษัทจำเลยให้มาตกลงเรื่องค่าเสียหายกับโจทก์ และได้ทำข้อตกลงกับ โจทก์ในเรื่องค่าเสียหายที่บริษัทจำเลยจะชดใช้ให้โจทก์ ดังนี้พนักงานบริษัทจำเลยผู้นั้นอาจเป็นตัวแทนของบริษัทจำเลยได้โดยผลของการให้สัตยาบัน แต่บริษัทจำเลยมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของพนักงานบริษัทจำเลยดังกล่าว บริษัทจำเลยจึงใช้เอกสารข้อตกลงดังกล่าวมาผูกมัดโจทก์หาได้ไม่
เอกสารข้อตกลงระหว่างพนักงานบริษัทจำเลยกับโจทก์ แม้จะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่การที่พนักงานบริษัทจำเลยไปอ้างว่าได้รับมอบหมายจากบริษัทจำเลยโดยไม่มีหลักฐานการมอบหมายเป็นหนังสือแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการกระทำแทนบริษัทจำเลย ข้อตกลงในเรื่องค่าเสียหายจึงไม่มีผลผูกพันทั้งโจทก์และบริษัทจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนรถยนต์โจทก์เสียหายทั้งสิ้น ๔๓,๗๔๕ บาท
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธความรับผิด และว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
เมื่อสืบพยานโจทก์ไปได้ ๑ ปาก จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับโจทก์แล้วตามเอกสารหมาย ล.๑ โจทก์แถลงรับว่าได้ทำเอกสารหมาย ล.๑ ไว้จริงแต่เอกสารนั้นไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความและจำเลยแถลงรับว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า เอกสารหมาย ล.๑เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเพียงตามที่ตกลงกันไว้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เอกสารหมาย ล.๑ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่นายนันทวัฒน์ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ให้มาทำความตกลงกับโจทก์โดยไม่มีหนังสือมอบหมายให้เป็นตัวแทน สัญญาประนีประนอมจึงไม่มีผลใช้บังคับ พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีปัญหาในชั้นนี้แต่เพียงว่า เอกสารหมาย ล.๑เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะมีผลให้โจทก์หมดสิทธิเรียกร้องตามฟ้องคดีนี้หรือไม่ ได้ตรวจดูเอกสารหมาย ล.๑ แล้ว ปรากฏข้อความสำคัญว่า “นายนันทวัฒน์ สุนทรหิรัญ ผู้ควบคุมกองจัดงานบุคคลของบริษัทศรีมหาราชา อ้างว่าได้รับมอบหมายจากบริษัทศรีมหาราชา จำกัดให้มาตกลงเรื่องค่าเสียหายในคดีนี้ โดยนายนันทวัฒน์เสนอความเห็นควรให้ทางบริษัทศรีมหาราชา จำกัดช่วยเหลือค่าซ่อมแซมรถให้แก่นายอุไร ๓,๐๐๐ บาท แต่นายอุไรขอ ๗,๔๐๐ บาท ที่สุดตกลงกันในราคา ๕,๐๐๐ บาทและนายนันทวัฒน์จะได้เสนอทางบริษัทศรีมหาราชาดำเนินการต่อไปจึงให้คู่กรณีทุกฝ่ายลงชื่อไว้” ดังนี้ เห็นว่า นายนันทวัฒน์อ้างว่าได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ให้มาตกลงเรื่องค่าเสียหายในคดีนี้ นายนันทวัฒน์ก็อาจจะเป็นตัวแทนของบริษัทจำเลยที่ ๒ ได้โดยผลของการให้สัตยาบันแต่ได้ความจากนายอุไรพยานโจทก์ว่า วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๒ นายอุไรได้ไปขอรับค่าเสียหายตามนัด แต่ทางบริษัทจำเลยไม่ยอมจ่ายให้โดยไม่ให้เหตุผลจนหลังเกิดเหตุแล้วประมาณ ๑๐ วัน นายอุไรจึงได้นำรถยนต์ของตนไปเข้าอู่ซ่อม แล้วได้ไปถามทางพนักงานสอบสวน ก็ไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยได้เอาเงินมาให้ ทั้งเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากเกิดเหตุแล้วถึง๔ เดือนเศษ จำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธความรับผิดชอบโดยตลอดพฤติการณ์แสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ ๒ มิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของนายนันทวัฒน์แต่ประการใดเลย กลับจะมาฉวยโอกาสใช้เอกสารหมาย ล.๑ ผูกมัดโจทก์ในตอนนี้หาชอบไม่ แม้ข้อตกลงที่ถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายนันทวัฒน์และโจทก์เป็นสำคัญแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๘ วรรค ๒ บัญญัติว่ากิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้น ก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ฉะนั้น การที่นายนันทวัฒน์ไปอ้างว่าได้รับมอบหมายจากบริษัทจำเลยที่ ๒ โดยไม่มีหลักฐานการมอบหมายเป็นหนังสือแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ ๒ และข้อตกลงในเรื่องค่าเสียหายดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันทั้งโจทก์และจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานและพิพากษาใหม่จึงชอบด้วยรูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share