แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำใบยืมเงินไปซื้อโคให้โจทก์ จะนำใบสำคัญคู่จ่ายส่งคืนภายหลัง จำเลยได้ซื้อโคตามที่ได้รับมอบหมายในวัตถุประสงค์ของโจทก์มีใบรับเงินของผู้ขายแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดในเหตุที่โจทก์ได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกไม่ครบ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 248,355 บาท52 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการจัดซื้อโคนอกที่ตั้งเพื่อใช้ทำอาหารสำเร็จรูปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2517 จำเลยที่ 3 ได้มอบให้จำเลยที่ 2ยืมเงินทดรองจากกองเงินของโจทก์ และรับเงินไป 875,000 บาท ตามใบยืมเลขที่ 2/18 เอกสารหมาย จ.18 เพื่อซื้อโคประมาณ 350 ตัว ที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมามีการส่งโคเข้ามาฆ่าในโรงงานฆ่าสัตว์ของโจทก์ที่ตำบลปากแรด อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี เจ้าหน้าที่ได้ทำการหักล้างใบยืมแล้ว คงค้างชำระอยู่ 268,676 บาท52 สตางค์ โจทก์ให้จำเลยทั้งสามชำระ จำเลยทั้งสามถือว่าได้ชำระเงินค่าซื้อโคให้แก่นายเดชาผู้ขายแล้ว และจำเลยได้นำใบเสร็จรับเงิน 4 ฉบับ รวมจำนวนเงิน875,000 บาท ส่งใช้หักหนี้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่ยอมรับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
ปัญหามีว่า จำเลยที่ 2, ที่ 3 นำเงิน 875,000 บาท ไปซื้อโคจริงหรือไม่ ถ้าจริงใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) เอกสารหมาย ล.5, ล.6, ล.7 และ ล.8 ใช้เป็นหลักฐานหักล้างเงินยืมตามใบยืมเอกสารหมาย จ.18 ได้เพียงใดหรือไม่ และจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดเพียงใดหรือไม่
ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2, ที่ 3 จ่ายเงิน 875,000บาทให้นายเดชา เพราะนายเดชาเบิกความว่าไม่ได้รับเงินตามเอกสารหมาย ล.3พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 2, ที่ 3 และนายเดชาผู้ขายโคเบิกความฟังได้ว่า นายเดชาได้พาจำเลยที่ 2, ที่ 3 ไปดูฝูงโคที่อำเภอเชียงดาวและอำเภอแม่ริม มีโคอยู่ 4 ฝูง 364 ตัว จำเลยที่ 2, ที่ 3 ตรวจดูโคแล้วตกลงรับซื้อทั้งหมด ได้จ่ายเงิน 875,000บาทให้นายเดชาเป็นค่าโค และนายเดชาได้ออกใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 2, ที่ 3 ตามเอกสารหมาย ล.5, ล.6, ล.7 และ ล.8 ระหว่างสอบสวนของคณะกรรมการที่โจทก์ตั้งขึ้นเพื่อหาสาเหตุที่จำเลยทั้งสามไม่ชำระเงินยืมทดรองจ่ายโดยเฉพาะนายประสาสน์ โกมลภัส ก็เบิกความว่าจำเลยที่ 3 ได้นำใบเสร็จรับเงิน 4 ฉบับ เงิน 800,000 บาทเศษ ตามจำนวนเงินที่ยืมมาแสดงต่อคณะกรรมการสอบสวนแต่คืนให้จำเลยที่ 3 เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องระหว่างกรรมการจัดซื้อโคกับนายเดชาไม่ใช่เรื่องโจทก์กับนายเดชา และโจทก์ซื้อโคเป็นซาก ไม่ใช่โคเป็น ๆ จึงไม่ยอมรับใบรับเงิน ดังนี้เป็นกรณีโจทก์นำสืบรับว่าจำเลยที่ 2, ที่ 3 จ่ายเงินให้นายเดชารับไปตามใบเสร็จรับเงินหมายเลข ล.5, ล.6, ล.7 และ ล.8 จำเลยที่ 2, ที่ 3 จึงไม่ต้องอาศัยเอกสารดังกล่าวเป็นพยานศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 2, ที่ 3 จ่ายเงินจำนวน 875,000 บาทให้นายเดชาตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.5, ล.6, ล.7 และ ล.8 จริง
ส่วนฎีกาในปัญหาว่าใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.5, ล.6, ล.7 และ ล.8เป็นหลักฐานหักล้างเงินยืมตามเอกสารหมาย จ.18 ได้หรือไม่ ที่พลโทพงษ์ ทิพยวาทีอดีตผู้อำนวยการองค์การโจทก์ว่า ไม่มีระเบียบให้นำใบเสร็จรับเงินของผู้ขายโคมาเป็นใบสำคัญในการหักล้างเงินยืมและที่นายประสาสน์ โกมลภัส รองผู้อำนวยการองค์การโจทก์ว่า การหักใช้เงินยืม ต้องกระทำโดยโจทก์ออกเช็คให้แก่ผู้ขายโค แล้วผู้ขายโคสลักหลังเช็คให้กรรมการเพื่อให้คณะกรรมการจัดซื้อนำเช็คมาหักใช้เงินยืม ทั้งสองประการนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีข้อบังคับหรือระเบียบของโจทก์กำหนดไว้ย่อมไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะส่งใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.5, ล.6,ล.7 และ ล.8 หักล้างเงินยืม ในใบยืมเอกสารหมาย จ.18 จำเลยที่ 3 แสดงความประสงค์ขอยืมเงินเพื่อให้จ่ายในการซื้อโค และจะนำใบสำคัญคู่จ่ายที่ถูกต้องรวมทั้งเงินเหลือจ่ายส่งใช้คืนภายในระยะเวลาที่กำหนด (ในใบยืมไม่ได้กำหนดวันที่ส่งใบสำคัญคู่จ่าย) ประกอบกับไม่มีข้อบังคับว่าใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.5, ล.6, ล.7 และ ล.8 ต้องห้ามไม่ให้ใช้เป็นใบสำคัญคู่จ่ายส่งใช้เงินยืมเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าใบเสร็จรับเงินทั้ง 4 ฉบับ ย่อมเป็นใบสำคัญคู่จ่ายอันอาจส่งใช้เพื่อหักหนี้เงินยืมได้ และเมื่อโจทก์ออกข้อบังคับว่าด้วยเงินยืมทดรอง พ.ศ. 2518 แล้ว ข้อ 4. ก็ระบุว่าใบสำคัญจ่ายหมายความว่า ใบเสร็จรับเงิน และข้อ 9. ระบุว่า ผู้ยืมจะต้องส่งคืนเงินยืมที่เหลือจ่าย หรือใบสำคัญคู่จ่ายทันทีหรืออย่างช้าภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่กลับจากการปฏิบัติงาน ดังนี้ข้อที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่รับใบเสร็จรับเงินจากจำเลยเป็นการหักหนี้เงินยืม โดยอ้างว่าต้องเป็นเช็คที่โจทก์มอบให้ผู้ขายโค จึงไม่มีข้อบังคับหรือระเบียบใดสนับสนุนศาลฎีกาเห็นว่าใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.5, ล.6, ล.7 และ ล.8 ใช้เป็นใบสำคัญคู่จ่ายหักล้างเงินยืมทดรองได้ และเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2,ที่ 3 ซื้อโคมาตามที่ได้รับมอบหมายในวัตถุประสงค์ของโจทก์แล้ว ไม่ต้องรับผิดในเหตุที่โจทก์ได้รับโคไม่ครบ เพราะตามใบยืม จำเลยที่ 3 เพียงแต่ยืมไปซื้อโคและจะนำใบสำคัญคู่จ่ายส่งคืนภายหลังเท่านั้น”
พิพากษายืน