แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้กล่าวให้พอเป็นที่เข้าใจว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด 4 กรรม และให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แม้จะยก ป.อ. มาตรา 91 ซึ่ง เป็นบทบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดในกรณีที่กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่าง กันขึ้นปรับ ก็ไม่พอถือ ว่า ศาลชั้นต้นได้ พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 4 กรรมเป็นกระทงความผิดไปแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยกระทงเดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลงโทษ 4 กระทง เป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ ยังคงลงโทษจำคุกแต่ ละกระทงไม่เกินห้าปี จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478มาตรา 4, 5, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา91 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 3 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไขแล้ว จำคุกจำเลยกระทงละ 4 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 เดือน ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 8 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นการพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด 4 กรรม และให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้กล่าวให้พอเป็นที่เข้าใจว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด 4 กรรม และให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แม้จะยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดในกรณีที่กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันขึ้นปรับก็ตาม ก็ไม่พอถือว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 4 กรรมเป็นกระทงความผิดไปแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยกระทงเดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลงโทษ 4 กระทงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จำเลยไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษเป็นฎีกาเกี่ยวกับดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.