แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 18(6) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลผู้มีสิทธิ ได้รับเงินค่าทดแทนนั้น หมายถึงบุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ ทางตามมาตรา 1349 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับทางจำเป็น ส่วนกรณีทางภารจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่ง ต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 29ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ หาอาจนำมาตรา 18(6) มาใช้บังคับโดยอาศัยมาตรา 4 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งได้ไม่ ผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิหรือทางภารจำยอมตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 29จะต้องร้องขอรับชำระหนี้หรือรับชดใช้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งตามมาตรา 28, หรือมาตรา 29แล้วแต่กรณี หากในระหว่างเวลา 60 วันนั้นผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิมาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนและตกลงกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่ง อสังหาริมทรัพย์นั้นได้ จึงจะมีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้ตามที่คู่กรณีตกลงกัน หากคู่กรณีตกลงกันไม่ได้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จะต้องนำเงินค่าทดแทนนั้นไปวางทรัพย์ตามมาตรา 31 แต่ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวมิได้ขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลา 60 วันก็ไม่มีกรณีที่คู่กรณีจะตกลงกันเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย จากเจ้าหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์หาชอบที่จะนำเงินค่าทดแทนไปวางทรัพย์ไว้ตามบทบัญญัติมาตรา 31 ไม่ เมื่อจำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ แต่จำเลยนำไปวางทรัพย์ไว้ ณ สำนักงานออมสิน โจทก์จึงชอบที่จะได้รับเงินดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการวางทรัพย์นั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6027ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่50 ตารางวา ตกเป็นภารจำยอมเรื่องทางเดินทั้งแปลงของที่ดินโฉนดเลขที่ 3224, 18056, 176464 และ 176465 ที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ สายรามอินทรา-อาจณรงค์ ทั้งแปลงจำเลยแจ้งว่าจะจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ เป็นเงิน1,836,175.43 บาท โจทก์มิได้คัดค้านและมิได้ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนแต่จำเลยกลับเอาเงินค่าทดแทนไปฝากธนาคารออมสิน ในนามของโจทก์และในนามเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์อีก 45 รายโจทก์ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนจากจำเลย ส่วนเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์อีก 45 ราย ไม่ได้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนภายในเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งถือว่าหมดสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนแล้วจำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพียงผู้เดียวแต่จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยดำเนินการถอนชื่อเจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 รายที่มีชื่อร่วมกับโจทก์ในการที่จำเลยนำเงินค่าทดแทนไปฝากไว้ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ให้เหลือโจทก์แต่เพียงผู้เดียวเป็นเจ้าของบัญชี และให้จำเลยชำระเป็นดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยนำเงินไปฝากธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่จนกว่าจำเลยจะถอนชื่อเจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย ออกจากบัญชีเงินฝาก
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องการที่เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์อีก 45 รายไม่ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนภายในเวลาที่กำหนด ไม่มีผลทำให้หมดสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยจะจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินต่อเมื่อปรากฏว่าโจทก์และเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ทำความตกลงกันได้หรือยินยอมให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแต่เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ไม่ได้มาติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนภายในเวลาที่กำหนดไว้ จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีการตกลงยินยอมกันได้หรือไม่ จำเลยจึงต้องนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปฝากธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ในนามโจทก์ และเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ จำนวน 45 ราย ตามมาตรา 13มาตรา 29 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการนำเงินค่าทดแทนไปวางต่อศาล หรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินตามกฎหมายการกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย เจ้าของบัญชีเงินฝากมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารออมสินอยู่แล้วจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนเงื่อนไขการวางเงินค่าทดแทนเฉพาะส่วนที่เป็นเงินค่าทดแทนที่ดิน จำนวน1,750,000 บาท ซึ่งจำเลยนำไปฝากธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ในนามของโจทก์ร่วมกับเจ้าของสามยทรัพย์ ให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 1,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น เนื่องจากเงินฝากจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันที่จำเลยฝากเงินเป็นต้นไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลย โจทก์มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 1,750,000 บาท ซึ่งจำเลยนำไปฝากธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ในนามของโจทก์เจ้าของภารยทรัพย์ร่วมกับเจ้าของสามยทรัพย์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าในกรณีที่ที่ดินที่อยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนอยู่ในบังคับภารจำยอมเป็นประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์แปลงอื่นเป็นกรณีที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 29หาอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 18(6) ไม่ และเมื่อเจ้าของภารยทรัพย์และเจ้าของสามยทรัพย์มิได้ตกลงกันในเรื่องค่าทดแทนแล้ว จำเลยชอบที่จะนำเงินค่าทดแทนไปวางทรัพย์ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของภารยทรัพย์และเจ้าของสามยทรัพย์ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้การเวนคืนที่ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้หากปรากฏว่าการเวนคืนนั้นหากเนิ่นช้าไปจะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมหรือประโยชน์ของรัฐอันสำคัญอย่างอื่นและเมื่อคณะรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจนานุเบกษากำหนดให้การเวนคืนนั้นเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนแล้วมาตรา 13 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นได้ก่อนที่จะมีการเวนคืนแต่ต้องมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันและเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ต้องจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนที่กำหนดขึ้นตามมาตรา 9 โดยให้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินก่อนการเข้าครอบครองหรือใช้ที่ดินแต่ต้องไม่เกินราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 หากเป็นกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ให้เจ้าหน้าที่วางเงินค่าทดแทนและมีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นและในมาตรา 13 วรรคท้ายให้นำมาตรา 29และมาตรา 31 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อกรณีการเวนคืนที่ดินของโจทก์นี้คณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้การเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนเจ้าหน้าที่จึงต้องจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนขึ้นตามมาตรา 13 วรรคสอง ต้องนำมาตรา 29 และมาตรา 30มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 13 วรรคท้าย ซึ่งมาตรา 29บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการจำนองบุริมสิทธิ หรือทรัพยสิทธิอย่างอื่นเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับจำนองผู้ทรงบุริมสิทธิหรือผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้หรือรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และในระหว่างนั้นยังมิให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจำนองผู้ทรงบุริมสิทธิหรือผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวได้ ก็ต่อเมื่อคู่กรณีตกลงกันได้แล้ว ถ้าคู่กรณียังมีปัญหาโต้แย้งกันอยู่ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่วางเงินค่าทดแทนไว้ตามมาตรา 31 โดยพลัน และมีหนังสือแจ้งให้คู่กรณีฟ้องคดีต่อศาล”จึงเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า คำว่า ทรัพยสิทธิอย่างอื่นเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนและคำว่าผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวตามมาตรา 29 มีความหมายถึงเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ในคดีนี้หรือไม่ หรือเป็นกรณีที่อยู่ในบังคับของมาตรา 18(6)ที่บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนนั้นให้กำหนดให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้(6) บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำสายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นตามมาตรา 1349 หรือมาตรา 1352 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในกรณีที่บุคคลเช่นว่านั้นได้จ่ายค่าทดแทนในการใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืนแล้ว” เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 18(6)ระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(6)นั้น หมายถึงบุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางตามมาตรา 1349 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับทางจำเป็นโดยเฉพาะหาได้หมายความรวมถึงผู้ได้สิทธิในการใช้ทางเป็นภารจำยอมโดยประการอื่นดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่และเมื่อมาตรา 29 บัญญัติถึงทรัพยสิทธิอย่างอื่นเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนไว้แล้วซึ่งทางภารจำยอมในคดีนี้เป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติที่มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะหาอาจนำมาตรา 18(6) มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยได้ไม่ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ได้สิทธิในภารจำยอมเหนือที่ดินแปลงอื่นโดยทางอื่นนอกจากบทบัญญัติมาตรา 18(6)จึงต้องบังคับตามมาตรา 29 คือ ต้องถือว่าเจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย เป็นผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิในที่นี้ก็คือทางภารจำยอมเหนือที่ดินของโจทก์ที่อยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนตามมาตรา 29 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อจำเลยได้แจ้งต่อเจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 รายให้มารับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นภายใน 60 วันนับแต่วันรับแจ้ง แต่เจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย มิได้มาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนดังกล่าว จำเลยชอบที่จะนำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปวางทรัพย์ไว้เพื่อประโยชน์แก่โจทก์เจ้าของภารยทรัพย์และเจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 รายนั้น หรือไม่ ในปัญหานี้ได้พิเคราะห์มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติถึงกรณีที่ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกใช้บังคับโดยให้กรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนตกเป็นของเจ้าหน้าที่นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับและในมาตรา 16 วรรคสองได้บัญญัติให้จำนอง บุริมสิทธิหรือทรัพยสิทธิอย่างอื่นเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนเป็นอันสิ้นสุด โดยผู้รับจำนองผู้ทรงบุริมสิทธิ หรือบุคคลผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวยังคงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้หรือรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ต่อไป แต่จะต้องร้องขอรับชำระหนี้หรือรับชดใช้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งตามมาตรา 28 หรือมาตรา 29 แล้วแต่กรณีความในมาตรา 16ดังกล่าว แม้จะใช้บังคับกับกรณีที่ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 29 ที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นเห็นว่าถ้อยคำหรือหลักการในมาตรา 16 และมาตรา 29 นั้นเป็นหลักการอันเดียวกันกล่าวคือผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิจะต้องมาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งตามมาตรา 29 บัญญัติต่อไปว่าในระหว่างระยะเวลา 60 วันนั้นยังมิให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นเว้นแต่คู่กรณีจะตกลงกันได้แล้ว ซึ่งหมายความว่าในระหว่างเวลา 60 วันนั้นถ้าผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิมาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนและตกลงกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นได้จึงจะจ่ายเงินค่าทดแทนให้ตามที่คู่กรณีตกลงกัน หากคู่กรณีตกลงกันไม่ได้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จะต้องนำเงินค่าทดแทนนั้นไปวางทรัพย์ตามมาตรา 31 แต่ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวมิได้ขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลา 60 วัน ก็ไม่มีกรณีที่คู่กรณีจะตกลงกัน เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์หาได้หมายความว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกับผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวจะต้องตกลงกันก่อนจึงจะมารับเงินจำนวนดังกล่าวได้ดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกำหนดระยะเวลา 60 วันให้ผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิจะต้องมาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนก่อนเพราะสามารถบัญญัติให้นำเงินค่าทดแทนไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ได้เลย แล้วให้คู่กรณีที่ตกลงกันได้ไปรับเงินที่วางไว้ ไม่จำเป็นจะต้องบัญญัติเงื่อนไขเป็นขั้นตอนดังกล่าว ข้อโต้แย้งของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า จำเลยได้แจ้งให้เจ้าของสามยทรัพย์ทั้ง 45 ราย มาขอรับชดใช้เงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนภายใน60 วันแล้ว แต่เจ้าของสามยทรัพย์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากทรัพยสิทธิดังกล่าวมิได้มาขอรับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเช่นนี้จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น หาชอบที่จะนำเงินค่าทดแทนไปวางทรัพย์ไว้ตามบทบัญญัติมาตรา 31 ไม่เมื่อจำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนให้แก่โจทก์แต่จำเลยนำไปวางทรัพย์ไว้ณ สำนักงานออมสิน สำนักงานใหญ่โจทก์จึงชอบที่จะได้รับเงินดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการวางทรัพย์นั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน