แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษ การนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลา อันเป็นบทบัญญัติทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในงานนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวันที่ 5 สิงหาคม 2553 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง โดยการนับระยะเวลานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นคือวันที่ 5 สิงหาคม 2553 รวมเข้าด้วยกัน จึงต้องเริ่มนับระยะเวลา 90 วัน โดยนับวันที่ 6 สิงหาคม 2553 เป็นวันแรก ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 จึงเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แล้ว
เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน หากโจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าจำเลยร่วม โจทก์ต้องฟ้องจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ด้วยตั้งแต่ต้น เพราะผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในกรณีที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทคือจำเลยร่วมหาใช่จำเลยไม่ แม้จำเลยร่วมยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยภายหลังก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับกลายเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 9/2553 และเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 438795
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายบวร ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 9/2553 และเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 438795 ทะเบียนเลขที่ ค 176600 ให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2540 ไบรท์ สตาร์ ฟุตแวร์ อิงค์. ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “candie’s” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า ชุดอาบน้ำถุงเท้า เข็มขัด เสื้อประเภทต่างๆ กางเกง และเครื่องแต่งกายอีกหลายรายการตามคำขอเลขที่ 345313 ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 นายทะเบียนมีคำสั่งให้ไบรท์ สตาร์ ฟุตแวร์ อิงค์. ผู้ขอดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับรายการสินค้าและชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม โดยแจ้งคำสั่งไปยังบริษัทติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนเดิมของผู้ขอ หลังจากนั้นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 จำเลยร่วมยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “CANDIE’S” ตามคำขอเลขที่ 438795 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า กางเกงยีน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยร่วมยื่นขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “candie’s” ของไบรท์ สตาร์ ฟุตแวร์ อิงค์. ผู้ขอที่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอเลขที่ 345313 ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2544 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าไบรท์ สตาร์ ฟุตแวร์ อิงค์. ผู้ขอทิ้งคำขอ จึงมีคำสั่งจำหน่ายคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 345313 ของผู้ขอ และวันที่ 26 กันยายน 2545 ตัวแทนของไบรท์ สตาร์ ฟุตแวร์ อิงค์. ผู้ขอจดทะเบียนมีหนังสือแจ้งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่าผู้ขอมิได้มีเจตนาละทิ้งคำขอจดทะเบียน แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือให้ผู้ขอชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมไปยังตัวแทนเดิม ผู้ขอจึงยังไม่ทราบ แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าผู้ขอไม่ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการแต่งตั้งตัวแทนคนใหม่ โดยไม่ยื่นแบบ ก.60 (คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง) คำสั่งให้จำหน่ายคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจึงชอบแล้ว ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CANDIE’S ” ของจำเลยร่วมสำหรับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า กางเกงยีนเป็นทะเบียนเลขที่ ค 176600 หลังจากนั้นวันที่ 6 มีนาคม 2550 โจทก์ได้ควบรวมกิจการกับไบรท์ สตาร์ ฟุตแวร์ อิงค์. และวันที่ 3 มีนาคม 2551 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ 438795 ทะเบียนเลขที่ ค 176600 ของจำเลยร่วมต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่เพิกถอนตามคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551 แต่หนังสือรับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำขึ้นวันที่ 26 ตุลาคม 2552 จึงรับฟังไม่ได้ว่าขณะยื่นคำร้องโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทและเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 63
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยร่วมว่า โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 9/2553 ภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษ การนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลา อันเป็นบทบัญญัติทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกันเว้นแต่จะเริ่มการในงานนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวันที่ 5 สิงหาคม 2553 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง โดยการนับระยะเวลานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นคือวันที่ 5 สิงหาคม 2553 รวมเข้าด้วยกัน จึงต้องเริ่มนับระยะเวลา 90 วัน โดยนับวันที่ 6 สิงหาคม 2553 เป็นวันแรก ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 3 พฤศจิกายน2553 จึงเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่าจำเลยร่วมซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่พิพาทที่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยหรือไม่นั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหากโจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าจำเลยร่วม โจทก์ต้องฟ้องจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ด้วยตั้งแต่ต้น เพราะผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในกรณีที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทคือจำเลยร่วมหาใช่จำเลยไม่ แม้จำเลยร่วมยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยภายหลังก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับกลายเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 9/2553 และให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ 438795 ทะเบียนเลขที่ ค 176600 ของจำเลยร่วมนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ