คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7979/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายให้จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินในฐานะผู้กู้ไว้โดยยังมิได้กรอกข้อความและให้จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นประกันว่า เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามเช็คจำเลยจะต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายได้กรอกข้อความในสัญญากู้ยืมเงินขณะไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยหลังจากผู้เสียหายได้ให้จำเลยยืมเงินไปแล้ว ซึ่งเห็นได้ว่าการกู้ยืมเงินกันแต่ละครั้งขณะลงลายมือชื่อไม่มีข้อความว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปเป็นจำนวนเท่าใดและจะต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างใด เอกสารลงลายมือชื่อของจำเลยที่ไม่ปรากฏความรับผิดหรือการเป็นหนี้ของจำเลย จึงหาใช่เป็นหลักฐานที่จะใช้ฟ้องร้องบังคับจำเลยได้ไม่ ฉะนั้น หนี้ตามสัญญากู้ที่โจทก์ฟ้องจึงไม่อาจบังคับจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด กระทงละ 4 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 12 เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้และออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ให้ผู้เสียหายไว้ ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนด ผู้เสียหายนำเช็คเข้าบัญชีเพื่อให้มีการเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร แต่ปรากฏว่าเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 นั้น โจทก์เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า มีการกู้ยืมเงินกันจริง จำเลยก็ให้การรับว่ากู้ยืมเงิน 400,000 บาท จริงและลงลายมือชื่อในสัญญากู้จริงและออกเช็คไว้เพื่อชำระหนี้จริง ซึ่งจำเลยให้การรับไว้แล้วข้อความในสัญญาก็ตรงกับความจริง จึงเป็นสัญญาฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ฎีกาว่า มีการกู้ยืมเงินกันจริงและสัญญากู้ใช้ฟ้องร้องบังคับกันได้นั้น จำเลยรับแต่เพียงว่าได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญากู้เท่านั้น และจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากผู้เสียหายเนื่องจากขาดทุนหมุนเวียนในการทำบ่อนการพนัน ผู้เสียหายให้จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความรวม 3 ฉบับ และให้จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นประกันว่า เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามเช็คจำเลยจะต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้เสียหาย แต่เมื่อถึงกำหนดชำระจำเลยไม่มีเงิน ผู้เสียหายจึงเข้ามาเก็บเงินที่บ่อนการพนันของจำเลยทุกวัน และให้จำเลยแก้ไขวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็ค ดังนี้เช็คพิพาททั้งสามฉบับจำเลยออกให้ผู้เสียหายโดยไม่มีเจตนาใช้เช็คเป็นการชำระหนี้ และหากผิดนัดผู้เสียหายก็กรอกข้อความลงในสัญญากู้เงินได้ ซึ่งผู้เสียหายเพิ่งกรอกข้อความลงในสัญญากู้เงินขณะไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าข้อต่อสู้ของจำเลยตามที่นำสืบมานั้นรับฟังเป็นความจริงได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า คดีได้ความจากตัวโจทก์ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นการทำสัญญากู้เพียงปากเดียวว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2538 จำเลยได้มาขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหายจำนวน 100,000 บาท และจะชำระคืนให้ผู้เสียหายวันที่ 18 กันยายน 2538 ซึ่งจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยครั้งแรกลงวันที่ 18 กันยายน 2538 ต่อมาจำเลยขอแก้ไขเป็นวันที่ 24 ตุลาคม 2538 ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2538 จำเลยได้มาขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหายอีกจำนวน 200,000 บาท จำเลยจะต้องชำระเงินคืนวันที่ 28 กันยายน 2538 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คให้ผู้เสียหาย 1 ฉบับ ลงวันที่ 28 กันยายน 2538 ภายหลังได้เปลี่ยนวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 และในวันที่ 23 กันยายน 2538 จำเลยได้ขอกู้ยืมจากผู้เสียหายอีกจำนวน 100,000 บาท จะชำระเงินคืนในวันที่ 23 ตุลาคม 2538 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 23 ตุลาคม 2538 ต่อมาจำเลยขอเปลี่ยนวันสั่งจ่ายเป็นวันที่ 19 ตุลาคม 2538 จากข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวมานั้น เห็นได้ว่าจำเลยขอกู้ยืมเงินโจทก์ในแต่ละครั้งและกำหนดจะใช้ต้นเงินคืนภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทแต่ละฉบับให้แก่ผู้เสียหาย แต่ถึงกำหนดเรียกเงินตามเช็ค จำเลยซึ่งผู้เสียหายอ้างว่ามีฐานะดีก็มาขอแก้ไขวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คออกไปเป็นวันที่ 24 ตุลาคม 2538 วันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 และวันที่ 19 ตุลาคม 2538 ตามลำดับ และในที่สุดเช็คพิพาทนั้นก็เรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้นำสัญญากู้ตามที่จำเลยทำไว้ให้นั้นไปฟ้องร้องให้จำเลยต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งแต่อย่างใด เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาที่จะต้องคืนเงินต้นและผู้เสียหายให้กู้ใหม่ในแต่ละครั้งเป็นระยะเวลาอันสั้นและจำเลยขอกู้ในครั้งต่อไปก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการชำระต้นเงินคืนให้ผู้เสียหาย และจากการที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งแรก ธนาคารให้เหตุผลว่าโปรดนำมายื่นใหม่ ในการกู้ยืมครั้งที่สองผู้เสียหายให้จำเลยกู้ยืมในระยะสั้นอีก ในครั้งนี้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า บัญชีปิดแล้ว แต่เมื่อจำเลยมาขอกู้ยืมครั้งที่สามผู้เสียหายก็ให้จำเลยกู้ยืมเงินอีกโดยยอมรับเช็คไว้แทน ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าเช็คของจำเลยที่สั่งจ่ายให้ผู้เสียหายไว้ในครั้งก่อนๆ นั้นเรียกเก็บเงินไม่ได้และบัญชีปิดแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ยังยอมให้จำเลยก็ยืมเงินได้อีก โดยไม่ปรากฏเลยว่าในการกู้ยืมแต่ละครั้งนั้น จำเลยมีหลักทรัพย์อะไรเป็นประกัน ทั้งที่การกู้ยืมเงินในแต่ละครั้งก็มีกำหนดระยะเวลาเพียงสั้นๆ พฤติการณ์การให้ยืมเงินของผู้เสียหายจึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าน่าจะเป็นไปตามที่จำเลยนำสืบ คือ ผู้เสียหายให้จำเลยกู้ยืมเงินไปใช้ในการหมุนเวียนในบ่อนการพนัน นอกจากนี้คำเบิกความของผู้เสียหายก็เป็นพิรุธว่า เหตุใดจึงให้จำเลยยืมคราวละเป็นแสนบาทโดยผู้เสียหายอ้างแต่เพียงว่า ผู้เสียหายมีบ้านใกล้กับบ้านจำเลย จำเลยมีฐานะดี ผู้เสียหายรู้จักจำเลยมาประมาณ 10 ปี แต่จำเลยจะประกอบอาชีพอะไร ผู้เสียหายกลับไม่ทราบ และจากคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยของผู้เสียหายที่ว่า สัญญากู้ทั้งสามฉบับทำที่บ้านผู้เสียหายซึ่งในขณะที่ทำสัญญาไม่มีบุคคลใดอยู่ที่บ้านผู้เสียหาย สัญญากู้พยานจำไม่ได้ว่าบุตรของผู้เสียหายคนใดเป็นผู้พิมพ์ เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วจึงนำสัญญากู้มาให้จำเลยอ่านแล้วจำเลยจึงลงลายมือชื่อ ตามคำเบิกความดังกล่าวนั้นขัดต่อเหตุผล เพราะเหตุว่าเมื่อผู้เสียหายอ้างว่าขณะทำสัญญาไม่มีบุคคลใดอยู่ที่บ้านผู้เสียหาย ดังนั้น จึงต้องรวมถึงว่าในวันที่ทำสัญญานั้นบุตรของผู้เสียหายไม่ว่าคนใดก็ไม่อยู่ที่บ้าน การที่ผู้เสียหายจะให้บุตรของตนพิมพ์ข้อความไว้ก่อนก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะผู้เสียหายจะทราบได้อย่างใดว่าจำเลยจะมาขอกู้ยืมเงินเป็นจำนวนเท่าใด และจะชำระคืนให้เมื่อใด และจะมีการพิมพ์ข้อความในวันทำสัญญาก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นข้อเท็จจริงจึงน่าจะเป็นว่า ผู้เสียหายให้จำเลยลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้ไว้โดยยังมิได้กรอกข้อความ แต่ผู้เสียหายได้กรอกข้อความหลังจากให้จำเลยยืมเงินไปแล้ว ซึ่งเห็นได้ว่าขณะที่มีการกู้ยืมเงินแต่ละครั้งเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไป แต่เมื่อในขณะลงลายมือชื่อไม่มีข้อความว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปเป็นจำนวนเท่าใดและจะต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างใด เอกสารลงลายมือชื่อของจำเลยที่ไม่ปรากฏความรับผิดหรือการเป็นหนี้ของจำเลย จึงหาใช่เป็นหลักฐานที่จะใช้ฟ้องร้องบังคับจำเลยได้ไม่ ฉะนั้น หนี้ตามสัญญากู้ตามที่โจทก์ฟ้องจึงไม่อาจจะบังคับจำเลยได้ในขณะจำเลยออกเช็คพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share