แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 3 ไม่อาจถูกฟ้องให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่เพราะจำเลยที่ 3 มิใช่ “หน่วยงานของรัฐ” ตามความหมายในมาตรา 4 ประกอบมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาท เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่” ตามความหมายมาตรา 4 ของกฎหมายดังกล่าวซึ่งไม่อาจถูกฟ้องได้ แต่จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลและฟังได้ว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้
สำหรับจำเลยที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 12 กำหนดว่า กระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ โดยจำเลยที่ 4 เป็นส่วนราชการหนึ่งของจำเลยที่ 5 มีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบในการปฏิบัติงานของส่วนราชการและข้าราชการในสำนักงานโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการครูของโรงเรียนจำเลยที่ 3 ซึ่งสังกัดและอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 4 โดยข้าราชการครูรับเงินเดือนจากจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 2 ก็รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ (ข้าราชการ) ของจำเลยที่ 4 และเป็นเจ้าหน้าที่ (ข้าราชการ) ของจำเลยที่ 5 ด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ นอกจากจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็น “หน่วยงานของรัฐ” เช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 กระทำด้วย ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ด้วย
แต่ในส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยนั้น ตามสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำต่อโจทก์ มิใช่บรรยายฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 รับผิดในฐานะเป็นผู้ทำละเมิดเอง จึงเป็นฎีกานอกคำฟ้องนอกประเด็นแห่งคดี และศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหาย 22,093,178 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 1,438,110 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ค่าทนายความใช้แทนเป็นเงิน 30,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 3,055,762 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในศาลชั้นต้น และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกา โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 ไม่อาจถูกฟ้องให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่เพราะจำเลยที่ 3 มิใช่ “หน่วยงานของรัฐ” ตามความหมายในมาตรา 4 ประกอบมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาท เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่” ตามความหมายมาตรา 4 ของกฎหมายดังกล่าวซึ่งไม่อาจถูกฟ้องได้ แต่จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลและฟังได้ว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ สำหรับจำเลยที่ 5 นั้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 12 กำหนดว่า กระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ โดยจำเลยที่ 4 เป็นส่วนราชการหนึ่งของจำเลยที่ 5 มีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบในการปฏิบัติงานของส่วนราชการและข้าราชการในสำนักงาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการครูของโรงเรียนจำเลยที่ 3 ซึ่งสังกัดและอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 4 โดยข้าราชการครูรับเงินเดือนจากจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 2 ก็รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ (ข้าราชการ) ของจำเลยที่ 4 และเป็นเจ้าหน้าที่ (ข้าราชการ) ของจำเลยที่ 5 ด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนี้ นอกจากจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็น “หน่วยงานของรัฐ” เช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 กระทำด้วย ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
แต่ในส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า ตามสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำต่อโจทก์ มิใช่บรรยายฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 รับผิดในฐานะเป็นผู้ทำละเมิดเอง จึงเป็นฎีกานอกคำฟ้องนอกประเด็นแห่งคดี และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้