แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ขณะเกิดเหตุที่จำเลยขับชนกับรถที่ ส. ขับสวนมา จำเลยและ ม. นั่งมาในรถคันเดียวกันและ ม. เข้าเบิกความหลังจากนั่งฟังจำเลยเบิกความแล้ว แต่การรับฟังข้อเท็จจริงว่า ส. ประมาทมากกว่าจำเลยหรือไม่นั้น ศาลพิเคราะห์จากพฤติการณ์ที่ ส. ขับรถบรรทุกซึ่งมีน้ำหนักมากแซงรถเครนในระยะกระชั้นชิดขณะที่จำเลยขับรถแล่นสวนมา และพิจารณาจากคำเบิกความของจำเลยประกอบสภาพความเสียหายของรถ บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ สนับสนุนกัน ทั้งมีบันทึกคำให้การในคดีอาญาของ ม. เป็นพยานประกอบ คำเบิกความของ ม. ซึ่งเป็นไปทำนองเดียวกับจำเลยจึงเป็นที่เชื่อฟังได้ ไม่ทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงมีดุลพินิจที่จะไม่ฟังว่าคำเบิกความของ ม. เป็นการผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 114
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 849/2538 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 268,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินแก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 4 สิงหาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 7,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยรถบรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 8764 นครสวรรค์ ไว้จากบริษัทเสริมสุข จำกัด มีระยะเวลาประกันภัยเริ่มแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2537 เวลาประมาณ 8.45 นาฬิกา นายสุรินทร์ ลูกจ้างของบริษัทเสริมสุข จำกัด ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยบรรทุกน้ำอัดลมออกจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปตามถนนสายอุตรดิตถ์ – เขื่อนสิริกิติ์ มุ่งหน้าไปทางตำบลท่าเสา เพื่อไปส่งน้ำอัดลมที่จังหวัดแพร่ เมื่อถึงที่เกิดเหตุระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 1 กับหลักกิโลเมตรที่ 2 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีฝนตกปรอยๆ นายสุรินทร์ขับรถแซงรถเครนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่แล่นอยู่ด้านหน้า ขณะนั้นจำเลยขับรถบรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 5630 แพร่ แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองอุตรดิตถ์ รถทั้งสองคันชนกันเป็นเหตุให้จำเลย นางสมใจ และผู้ที่นั่งโดยสารมาด้วยได้รับบาดเจ็บ รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ในส่วนของคดีอาญา นายสุรินทร์ถูกฟ้องในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษนายสุรินทร์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2544 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1166/2541 ของศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เหตุที่รถทั้งสองคันชนกัน เกิดจากจำเลยประมาทมากกว่านายสุรินทร์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ขณะนายสุรินทร์ขับแซงพ้นรถเครนและจะกลับเข้าช่องเดินรถของตนเอง รถของจำเลยซึ่งขับมาด้วยความเร็วสูงและห้ามล้ออย่างแรงเสียหลักล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของนายสุรินทร์ แล้วเฉี่ยวชนกันในช่องเดินรถของนายสุรินทร์ จำเลยเห็นรถของนายสุรินทร์โดยมีเวลาเพียงพอที่จะชะลอความเร็วหรือห้ามล้อรถให้ช้าลงเพื่อความปลอดภัย แต่จำเลยยังคงขับรถด้วยความเร็วสูง จำเลยจึงประมาทมากกว่านายสุรินทร์ นั้น ในเหตุที่รถทั้งสองคันชนกันนี้ โจทก์มีนายสุรินทร์เบิกความเป็นพยานว่า เหตุเกิดจากจำเลยขับรถลงจากเนินม่อนดินแดงด้วยความเร็วสูง ขณะนายสุรินทร์ขับแซงรถเครนขึ้นไปรถจำเลยยังไม่ลงเนินมา ซึ่งมีระยะห่างประมาณ 300 ถึง 400 เมตร เมื่อนายสุรินทร์แซงรถเครนไปเกือบจะพ้นแล้วจึงเริ่มเห็นรถจำเลย หากจำเลยชะลอความเร็วของรถก็จะไม่เกิดเหตุขึ้น กับมีนายชัยชาญ ซึ่งนั่งมาในรถคันที่นายสุรินทร์ขับ เบิกความทำนองเดียวกัน นอกจากนี้โจทก์มีพันตำรวจโทดำรงสิทธิ์ พนักงานสอบสวน เบิกความเกี่ยวกับการตรวจสถานที่เกิดเหตุและการสอบปากคำพยานในคดีอาญา โดยพนักงานสอบสวนเบิกความด้วยว่า ตอนที่เกิดการเฉี่ยวชนกัน รถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 8764 นครสวรรค์ ได้แซงพ้นรถเครนและอยู่ในช่องทางของตนเองแล้ว ในขณะที่จำเลยและนายมนตรี ซึ่งนั่งมาในรถคันที่จำเลยขับเบิกความเป็นพยานว่า ก่อนถึงที่เกิดเหตุประมาณ 50 เมตร เห็นรถบรรทุกหกล้อซึ่งบรรทุกน้ำอัดลมแซงรถเครนขึ้นมา ส่วนด้านซ้ายของรถจำเลยมีรถจักรยานยนต์ขับอยู่ด้านหน้าห่างประมาณ 20 เมตร และนายมนตรีเบิกความด้วยว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เห็นว่า ที่โจทก์อ้างในทำนองว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูง และมีระยะห่างจากจุดที่นายสุรินทร์ขับรถแซงรถเครนประมาณ 300 ถึง 400 เมตร แต่จำเลยไม่ชะลอความเร็วของรถนั้น หากพิจารณาจากที่นายสุรินทร์เบิกความว่า ก่อนจะขับรถแซงรถเครนขึ้นไปยังไม่เห็นรถจำเลยลงเนินมา แสดงว่า สภาพถนนที่เป็นเนินอยู่ข้างหน้าทำให้นายสุรินทร์ไม่สามารถมองเห็นได้ว่าจะมีรถแล่นลงเนินสวนทางมาหรือไม่ นายสุรินทร์ขับรถตามรถเครนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การที่นายสุรินทร์จะขับแซงรถเครนขึ้นไปนั้น รถคันที่นายสุรินทร์ขับซึ่งบรรทุกน้ำอัดลมมาย่อมมีน้ำหนักมาก การเร่งทำความเร็วเพื่อแซงจะต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ทั้งในช่วงเวลานั้นฝนตกถนนลื่นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถยิ่งขึ้น นายสุรินทร์จึงต้องดูให้ดีก่อนว่าทางเดินรถข้างหน้าปลอดภัยและไม่มีรถอื่นสวนทางมาในช่วงระยะเวลาที่นายสุรินทร์จะแซงให้พ้นรถเครน นอกจากนี้บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางที่จะมุ่งไปขึ้นเนิน ดังนั้น นายสุรินทร์ยังไม่ควรที่จะแซงรถเครนขึ้นไป เพราะอาจจะมีรถลงเนินสวนทางมาก่อนที่นายสุรินทร์จะแซงรถเครนพ้น แต่นายสุรินทร์ก็ยังขับแซงขึ้นไป ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีจราจรของศาลแพ่งปรากฏว่า จุดเฉี่ยวชนของรถทั้งสองคันอยู่บริเวณกึ่งกลางถนน และพบรอยยางล้อหน้าข้างซ้ายของรถบรรทุกคันที่นายสุรินทร์ขับเป็นทางยาว 15 เมตร ในช่องเดินรถที่มุ่งหน้าไปเนินม่อนดินแดง ประกอบกับสภาพรถคันที่นายสุรินทร์ขับเสียหายบริเวณส่วนหน้าและมุมรถด้านซ้ายยุบเข้าไปมาก จึงเชื่อว่า ขณะนายสุรินทร์ขับแซงรถเครนขึ้นไปยังไม่พ้นนั้น รถคันที่จำเลยขับแล่นลงเนินมา เมื่อนายสุรินทร์เห็นรถจำเลย นายสุรินทร์ จะกลับเข้าช่องเดินรถของตนและห้ามล้ออย่างแรงจนทำให้เกิดรอยยางล้อบนถนน ซึ่งรถนายสุรินทร์ก็ยังไม่ทันได้กลับเข้าช่องทางเดินรถของตนได้ทั้งคัน โดยส่วนหนึ่งยังอยู่ในช่องรถสวน ขณะเดียวกันนั้นรถคันที่จำเลยขับก็แล่นสวนทางมาถึงในระยะใกล้ ตามที่นายมนตรีให้การไว้ในคดีอาญาของศาลแพ่งว่า รถอยู่ห่างกันประมาณ 30 เมตร จำเลยต้องห้ามล้อรถเพื่อชะลอความเร็ว เมื่อห้ามล้อเป็นครั้งที่สองรถได้เสียหลักท้ายปัดเข้าไปในช่องเดินรถของนายสุรินทร์และรถคันที่นายสุรินทร์ขับเข้ามาเฉี่ยวชนบริเวณด้านหน้าข้างขวาอย่างแรง ซึ่งจากรอยยางล้อในช่องเดินรถของนายสุรินทร์ก็มีจุดหักเปลี่ยนทิศทางเบนเข้าหาเส้นกึ่งกลางถนนก่อนที่รถทั้งสองคันจะชนกันบริเวณเส้นกึ่งกลางถนน การที่จำเลยต้องห้ามล้อรถก็เพราะรถนายสุรินทร์ยังแซงไม่พ้นรถเครนในขณะที่รถจำเลยจะแล่นไปถึงซึ่งเป็นระยะกระชั้นชิด และจำเลยก็ไม่สามารถหลบไปทางซ้ายได้ เพราะมีรถจักรยานยนต์ขับอยู่ด้านหน้า จำเลยจึงมิได้อยู่ในระยะห่างหรือมีเวลาเพียงพอที่จะค่อยๆ ชะลอความเร็วและควบคุมรถได้ ที่รถทั้งสองคันชนกันนั้นสาเหตุสำคัญมาจากนายสุรินทร์ขับรถแซงรถเครนไม่พ้น ถึงแม้ตามคำพิพากษาฎีกาคดีอาญากล่าวถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถหยุดรถได้ทันในขณะที่นายสุรินทร์ขับรถแล่นสวนทางเข้ามาในช่องเดินรถของจำเลยก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ดังที่วินิจฉัยมานั้น ยังไม่มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยประมาทมากกว่านายสุรินทร์คงรับฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนผิดโดยประมาทอยู่บ้าง ซึ่งเป็นความประมาทที่น้อยกว่าความประมาทของนายสุรินทร์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในข้อนี้มา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย สำหรับฎีกาของโจทก์ที่โต้เถียงว่าคำเบิกความของนายมนตรีไม่ชอบ เพราะนายมนตรีเข้าเบิกความหลังจากนั่งฟังจำเลยนั้น เห็นว่า แม้นายมนตรีเบิกความโดยได้ฟังคำพยานของจำเลยก่อนก็ตาม แต่ในการรับฟังข้อเท็จจริงว่านายสุรินทร์ประมาทมากกว่าจำเลยนั้น ศาลได้พิเคราะห์พฤติการณ์ที่นายสุรินทร์ขับรถที่มีน้ำหนักบรรทุกมากแซงรถเครนในระยะกระชั้นชิด ขณะที่จำเลยขับรถแล่นสวนทางมา ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยประกอบกับสภาพความเสียหายของรถและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุสนับสนุนกัน คำเบิกความของนายมนตรีซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกัน ทั้งยังมีบันทึกคำให้การของนายมนตรีในคดีอาญาเป็นพยานหลักฐานประกอบ จึงเป็นที่เชื่อฟังได้ และไม่ทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงมีดุลพินิจที่จะไม่ฟังว่าคำเบิกความของนายมนตรีเป็นการผิดระเบียบ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1166/2541 ไว้นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานอ้างพยานสำนวนคดีอาญาดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก สำหรับค่าทนายความใช้แทนในชั้นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความ 7,000 บาท แทนจำเลยนั้น ไม่เกินอัตราขั้นสูงตามกฎหมายและเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะต้องแก้ไข ฎีกาของโจทก์ทุกข้อจึงฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองแบ่งส่วนความเสียหายให้จำเลยรับผิด 1 ใน 10 ส่วน โดยให้จำเลยชดใช้ค่าซ่อมแซมรถแก่โจทก์เป็นเงิน 25,000 บาท นั้น เห็นว่า การกำหนดค่าเสียหายในเหตุละเมิดที่ผู้เสียหายมีส่วนทำความผิดด้วยต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง โดยพิจารณาถึงพฤติการณ์ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาหาได้ถือเอาความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากนายสุรินทร์ลูกจ้างของบริษัทเสริมสุข จำกัด ผู้เอาประกันภัยประมาทมากกว่าจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีบริษัทเสริมสุข จำกัด ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งนายสุรินทร์กระทำไปในทางการที่จ้าง เมื่อนายสุรินทร์ประมาทมากกว่าจำเลย ฝ่ายที่ประมาทมากกว่าไม่มีสิทธิฟ้องให้ฝ่ายที่ประมาทน้อยกว่ารับผิดในค่าเสียหายของฝ่ายที่ประมาทมากกว่าได้ ดังนั้น บริษัทเสริมสุข จำกัด จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ แม้โจทก์ผู้รับประกันภัยเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถที่บริษัทเสริมสุข จำกัด เอาประกันภัยไว้ โจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ