คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรมธรรม์ประกันภัยกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไว้ว่า การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆหรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วัน เมื่อใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์ขาดต่ออายุลงเกินกว่า 180 วันในเวลาเกิดเหตุจึงต้องตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ดังกล่าว จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ซึ่งถูกรถยนต์คันดังกล่าวชนได้รับบาดเจ็บ กรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่าผู้รับประกันภัยจะไม่ยกความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดนั้น จะนำมาปรับกับเงื่อนไขที่เป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไม่ได้ เพราะข้อยกเว้นแห่งความรับผิดเพียงทำให้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดเท่านั้น ไม่ทำให้กรมธรรม์ประกันภัยกลายเป็นไม่สมบูรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4จ-5015กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างหรือในกิจการที่ได้รับมอบหมายของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน4จ-5015 กรุงเทพมหานคร ไว้กับจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเพราะผู้ขับรถยนต์ดังกล่าวผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 5,487.50 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 28,000บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่7 มกราคม 2525 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ขณะที่โจทก์เดินข้ามถนนกำแพงเพชรหน้าสวนจตุจักรได้ถูกรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 จ-5015กรุงเทพมหานคร ชนได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์ดังกล่าว ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์คันนั้น จำเลยที่ 2ได้นำรถยนต์ของตนไปประกัยภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.7 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 28,000 บาท แต่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.7ข้อ 3.9.2 คดีคงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 28,000 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล แต่ใบอนุญาตสิ้นอายุเมื่อวันที่9 ตุลาคม 2525 ตามเอกสารหมาย ล.8 จนถึงวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1ก็ยังไม่ได้ต่อใบอนุญาตขับขี่จนเกินกำหนด 180 วันแล้ว ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.7 ข้อ 2.13.6 และข้อ 3.9.2 ได้กำหนดยกเว้นความรับผิดไว้ว่า การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วันหรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายในการขับรถยนต์ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ เมื่อใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ 1 ขาดต่ออายุลงเกินกว่า 180 วันในเวลาเกิดเหตุ จึงต้องตามเงื่อนไขในข้อ 2.13.6และ 3.9.2 ที่การประกันภัยของจำเลยที่ 3 ไม่คุ้มครองถึงอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.7ข้อ 2.14 ที่ระบุว่าบริษัทจะไม่ยกความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์และอื่น ๆ เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ 2.1 หรือ 2.2 ตามที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกานั้น ไม่อาจจะนำมาปรับเป็นข้อยกเว้นของข้อ 2.13.6 และ 3.9.2 ได้ เพราะความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์ไม่ใช่เป็นข้อยกเว้นแห่งความรับผิดตามข้อ 2.13.6 และ 3.9.2 ข้อ 2.13.6 และ 3.9.2 เป็นเงื่อนไขยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย หากเข้าข้อยกเว้นตามข้อ 2.13.6 และ 3.9.2 ก็เป็นเพียงทำให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดเท่านั้น ไม่ทำให้กรมธรรม์ประกันภัยกลายเป็นไม่สมบูรณ์ไป จึงไม่อาจนำมาปรับกันได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share