คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 37/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้รับการแจ้งการประเมินจากพนักงานเก็บภาษีสำหรับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2535 และ 2536 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2537 จำเลยซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องนำค่าภาษีไปชำระต่อพนักงานเก็บภาษีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับการแจ้งประเมิน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 38 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อจำเลยมิได้ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามมาตรา 25 และมิได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2535 และ 2536 ภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2537 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระแล้ว ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2535 และ 2536 จึงเป็นค่าภาษีค้างชำระอันก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยได้นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 จึงยังอยุ่ภายในระยะเวลา 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2535 และ 2536 ยังไม่ขาดอายุความ
จำเลยได้รับแจ้งการประเมินแล้ว หากจำเลยไม่พอใจกฎหมายกำหนดวิธีการให้จำเลยต้องยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาล ขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน หากจำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามมาตรา 25 จำเลยย่อมไม่อาจโต้แย้งหรือยกข้อต่อสู้ในประเด็นเกี่ยวกับการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในชั้นศาลได้ เพราะปัญหาดังกล่าวย่อมยุติไปในชั้นการประเมินแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมด้วยเงินเพิ่มจำนวน 247,500 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมด้วยเงินเพิ่มจำนวน 247,500 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัย “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้อง คำให้การและคำแถลงรับของคู่ความว่า จำเลยได้ยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2535 ถึง 2537 สำหรับโรงเรือนและที่ดินเลขที่ 465/64 หมู่ที่ 9 ซอยสำนักสงฆ์ ถนนพัทยากลาง ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ต่อโจทก์ไว้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 โจกท์ได้ทำการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้วแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบตามใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2537 จำเลยได้รับแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2537 และมิได้มีคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ในภาษี 2535 ถึง 2537 จำเลยเป็นเจ้าของโรงเรือนและที่ดินพิพาท และจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่นไปเมื่อปี 2538 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2535 และ 2536 ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์โดยสรุปความได้ว่า แม้พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งการยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินตามมาตรา 19 ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องร้องของโจทก์คงอยู่ใต้อายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้กล่าวคือ หนี้ค่าภาษีค้างชำระปี 2535 และ 2536 ย่อมถือว่าเป็นค่าภาษีค้างชำระตามาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงเรียกร้องได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2535 และกุมภาพันธ์ 2536 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2537 (ที่ถูกคือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537) สิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2535 และ 2536 จึงขาดอายุความเห็นว่าจำเลยได้รับแจ้งการประเมินจากพนักงานเก็บภาษีสำหรับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2535 และ 2536 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2537 จำเลยซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องนำค่าภาษีไปชำระต่อพนักงานเก็บภาษีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 38 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อจำเลยมิได้ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และมิได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2535 และ 2536 ภายในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2537 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระแล้ว ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2535 และ 2536 จึงเป็นค่าภาษีค้างชำระอันก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยได้นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไป หาใช่นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2535 และ 2536 ตามที่จำเลยเข้าใจแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 จึงยังอยู่ภายในระยะเวลา 10 ปี สิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2535 และ 2536 ยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยสามารถโต้แย้งหรือยกข้อต่อสู้ในประเด็นว่า โจทก์มีอำนาจประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจากจำเลยหรือไม่ในชั้นศาลได้นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยได้รับแจ้งการประเมินแล้ว หากจำเลยไม่พอใจกฎหมายกำหนดวิธีการให้จำเลยต้องยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาลขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน หากจำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จำเลยย่อมไม่อาจโต้แย้งหรือยกข้อต่อสู้ในประเด็นเกี่ยวกับการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในชั้นศาลได้ เพราะปัญหาดังกล่าวย่อมยุติไปในชั้นการประเมิน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

Share