แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดมา เป็นเพียงการประมาณราคาในชั้นต้นตามความเห็นของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ราคาที่ประเมินดังกล่าวจึงอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริง ซึ่งหากจำเลยไม่เห็นด้วย จำเลยก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดได้ และไม่มีหลักเกณฑ์ใดผูกมัดว่าการขายทอดตลาดจะต้องเป็นไปตามราคาที่ประเมิน แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใด จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และถือไม่ได้ว่ามีข้อโตแย้งสิทธิของจำเลยที่จะร้องขอต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดใหม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจำนวน 395,561.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 289,117.40 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยครั้งละ 1,315 บาท ทุก 3 ปี จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ และชำระค่าค่าฤชาธรรมเนียมจำนวนที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความอีก 3,000 บาท แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์ขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนอง คือ ห้องชุดเลขที่ 16/50 ชั้นที่ 4 ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 5/2539 อาคารเลขที่ 16 ชื่ออาคารชุดท๊อป แอร์พอร์ท คอนโดมิเนียม ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 26.21 ตารางเมตร ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาตารางเมตรละ 8,500 บาท รวมเป็นเงิน 222,785 บาท
จำเลยยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีร่วมกับโจทก์ประเมินราคาห้องชุดที่ยึดต่ำกว่าความเป็นจริงและไม่เป็นธรรมต่อจำเลย ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้ประเมินราคาห้องชุดที่ยึดใหม่ไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ซึ่งเป็นราคาซื้อขายเดิม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดไว้ใหม่ได้หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยซื้อห้องชุดที่ยึดมาในราคา 500,000 บาท ใช้เงินปรับปรุงเพิ่มเติมอีก 100,000 บาท โจทก์รับจำนองในราคา 293,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับประเมินราคาเพียง 222,785 บาท เป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่เป็นธรรม ไม่คำนึงถึงระเบียบว่าด้วยการบังคับคดีที่ให้พิจารณาถึงราคาซื้อขายกันในท้องตลาดและราคาจำนองครั้งสุดท้าย ขณะยึดห้องชุดดังกล่าวมีราคาขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ หากประเมินราคาต่ำจะทำให้การขายทอดตลาดได้ในราคาต่ำจึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ของจำเลยใหม่นั้น เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดมานั้น เป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้นตามความเห็นของเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อประโยชน์ในการขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ราคาที่ประเมินดังกล่าวจึงอาจไม่ตรงกับราคาแท้จริงก็ได้ ซึ่งแม้จำเลยจะไม่เห็นด้วย จำเลยก็ชอบที่จะหาผู้เข้าสู้ราคาหรือคัดค้านการขายทอดตลาดได้เพราะราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ดังกล่าวมิใช่ราคาที่แท้จริง และไม่มีหลักเกณฑ์ใดผูกมัดว่าการขายทอดจะต้องเป็นไปตามราคาที่ประเมิน แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใด ดังนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่จะร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดใหม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน