แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์ทั้งสามฎีกาดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219ไม่รับฎีกา
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสามเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ทั้งสามด้วย
หมายเหตุ จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 129)
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนที่สองและที่สามว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เรียงตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 จำคุก 9 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุก ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงละ 2 เดือน รวม 5 กระทงจำคุก 10 เดือน ไม่รอการลงโทษให้จำเลย และไม่ปรับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว(อันดับ 127)
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 129)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 9 เดือนปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิด 5 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 10 เดือน คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยใหม่เป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลฎีกา ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 9 เดือน ปรับ 3,000 บาท โดยไม่รอ การลงโทษ เห็นว่าฎีกาโจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการ กำหนดโทษของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของโจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกา เห็นพ้องด้วยให้ยกคำร้อง