คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องได้บรรยายในคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ถึงสภาพแห่งข้อหาว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาและไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้คงมีเฉพาะเงินที่โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับจากศาลซึ่งเป็นจำนวนเงินงวดสุดท้ายที่จำเลยมีสิทธิได้รับและเหลืออยู่เท่านั้นผู้ร้องจึงไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นๆของจำเลยได้อีกขอให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในเงินจำนวนดังกล่าวดังนี้คำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่จำต้องบรรยายถึงรายละเอียดเรื่องวันเวลาที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โอนเงินที่ผู้ร้องอายัดไว้ชั่วคราวมายังคดีของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อใดไว้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนอยู่แล้วและคู่ความสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตามคำร้องขอของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้อายัดเงินซึ่งธนาคารส่งมาตามหมายอายัดชั่วคราวของศาลเมื่อวันที่4มกราคม2533แต่ก็ยังไม่มีการชำระเงินตามคำสั่งดังกล่าวระยะเวลาสิบสี่วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา290วรรคห้าจึงยังไม่เริ่มนับดังนั้นเมื่อผู้ร้องนำเงินมาชำระคืนตามคำสั่งศาลในวันที่31พฤษภาคม2533พร้อมกับยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากเงินจำนวนดังกล่าวในวันเดียวกันจึงถือได้ว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา290วรรคห้าแล้วจึงเป็นการยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์โดยชอบ

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน124,235 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้2,000 บาท ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม2532 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าก่อสร้างจำนวน283,386 บาท ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเงินที่ธนาคารออมสินได้ส่งไปยังศาลชั้นต้นจำนวน 584,391 บาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน2532 ตามหมายอายัดชั่วคราวในคดีหมายเลขดำที่ 8727/2532(แดงที่ 2289/2533) ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีที่ผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2533 แต่ปรากฎว่า คดีหมายเลขดำที่ 8727/2532ของศาลชั้นต้นได้เสร็จเด็ดขาดลงโดยผู้ร้องกับจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533จำเลยทั้งสองยอมให้ผู้ร้องรับเงินดังกล่าว และผู้ร้องได้รับเงินจำนวน 584,319 บาท ไปจากศาลเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2533 ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำเงินที่รับไปคืนศาลชั้นต้นจำนวน 283,386 บาท แต่ผู้ร้องนำเงินไปคืนตามคำสั่งศาลเพียง 117,000 บาท เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 และผู้ร้องยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ จึงขอเฉลี่ยทรัพย์ในเงินจำนวน 117,000 บาท
โจทก์คัดค้านว่า คำร้อง ของ ผู้ร้องเคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินของจำเลยที่ 1เมื่อใด ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้อายัดเมื่อใด ทำให้โจทก์ไม่สามารถยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 290 กำหนดไว้ ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อล่วงพ้นเวลาตามกฎหมายเพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2532แจ้งไปยังธนาคารออมสินขออายัดเงินค่าก่อสร้างของจำเลยที่ 1จำนวน 283,363 บาท แต่ปรากฏว่าธนาคารออมสินได้ส่งเงินมายังศาลชั้นต้นตามหมายอายัดชั่วคราวในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ก่อนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 29 ธันวาคม2532 ขออนุญาตศาลชั้นต้นอายัดเงินของจำเลยที่ 1 จากคดีหมายเลขดำที่ 8727/2532 ไว้เป็นจำนวน 283,363 บาท ทั้งนี้เนื่องจากคดีหมายเลขดำที่ 8727/2532 ของศาลชั้นต้น เป็นการอายัดชั่วคราวระหว่างการพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 4 มกราคม 2533อนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินได้ตามที่ขอ การบังคับคดีของโจทก์จึงบริบูรณ์ลงตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2533 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย หนี้ระหว่างผู้ร้องและจำเลยเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยสมยอมกัน ผู้ร้องกับจำเลยสมคบกันด้วยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินที่ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ได้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าผู้ร้องได้บรรยายในคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ถึงสภาพแห่งข้อหาว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษา และไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ได้ คงมีเฉพาะเงินที่โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับจากศาลเป็นจำนวน 117,000 บาท และเป็นจำนวนเงินก้อนสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับและเหลืออยู่เท่านั้น ผู้ร้องจึงไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่น ๆของจำเลยที่ 1 ได้อีก ขอให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในเงินจำนวนดังกล่าวดังนี้คำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้บรรยายไว้ชัดแจ้ง ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่จำต้องบรรยายถึงรายละเอียดเรื่องวันเวลาที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โอนเงินที่ผู้ร้องอายัดชั่วคราวมายังคดีของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อใดไว้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนอยู่แล้วและคู่ความสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาต่อไปมีว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์โดยชอบหรือไม่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคห้าบัญญัติว่า “ในกรณีที่อายัดทรัพย์สินให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้” เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ 13063/2532 ของศาลชั้นต้น ตามคำร้องขอของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวให้อายัดเงินซึ่งธนาคารออมสินส่งมาตามหมายอายัดชั่วคราวของศาลในคดีหมายเลขดำที่ 8727/2532(แดงที่ 2289/2533) ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2533แต่ก็ยังไม่มีการชำระเงินตามคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด ระยะเวลาสิบสี่วันจึงยังไม่เริ่มนับ ดังนั้นเมื่อผู้ร้องนำเงินจำนวน117,000 บาท มาชำระคืนตามคำสั่งศาลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2533พร้อมกับยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากเงินจำนวนดังกล่าวในวันเดียวกัน จึงถือได้ว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามนัยของบทกฎหมายข้างต้นแล้ว เป็นการยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์โดยชอบ ส่วนปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่ามิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share