คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690-2691/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทน การกระทำดังกล่าวแม้จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่มาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ฉะนั้น การได้มาซึ่งที่ดินของโจทก์จึงไม่เสียเปล่าทั้งหมดยังมีผลตามกฎหมายอยู่ จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทนตนเป็นเวลานานจนจำเลยที่ 1 ไปขอออกใบแทนโฉนดแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ต่อธนาคารจนธนาคารเร่งรัดหนี้ และต่อมาจำเลยที่ 2 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียสิทธิของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์ได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกนายทอง สุริยบูรพกูล เป็นโจทก์ นายสมฤทธิ์หรือสัมฤทธิ์สุริยบูรพกูล เป็นจำเลยที่ 1 นางสาวสมจิตต์ หรือมณฑนาบุญศศิวิมล เป็นจำเลยที่ 2 และนายพงษ์ศักดิ์ ตามธีรนนท์เป็นจำเลยที่ 3
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 769 จำเลยที่ 1 บิดาของจำเลยที่ 2ได้ปลูกเพิง 1 หลัง ในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนเพิงเก็บสินค้าพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 1 สำนวนแรกให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าว แต่ให้จำเลยที่ 2ลงชื่อแทน แล้วต่อมาจำเลยที่ 2 และโจทก์ฉ้อฉลจำเลยที่ 1 โดยโอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยให้ลงชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมาจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนทั้งหมดของที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ มิฉะนั้นได้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 1 สำนวนหลังขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาและต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 สำนวนหลังให้การว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิซื้อที่ดิน โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และโอนขายแก่จำเลยที่ 3 โดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 สำนวนหลังให้การว่า ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนกับจดทะเบียนการโอนโดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 (จำเลยทั้งสองในสำนวนแรก) รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 3 (โจทก์ในสำนวนแรก) คือโฉนดที่ดินเลขที่ 769 ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 3 เดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 2,000 บาท คำขอของจำเลยที่ 3 ในสำนวนคดีแรก นอกจากนี้ให้ยก และพิพากษายกฟ้องโจทก์ในสำนวนหลัง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายสมศักดิ์ สุริยบูรพกูลทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนคดีแรก และพิพากษากลับสำนวนคดีหลังให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาททั้งหมดระหว่างจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์ ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายที่ดินตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทนจึงเกิดขึ้นไม่ได้ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวแม้จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่ มาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ฉะนั้น การได้มาซึ่งที่ดินของโจทก์จึงไม่เสียเปล่าทั้งหมด ยังมีผลตามกฎหมายอยู่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทนตนเป็นเวลานานจนจำเลยที่ 1 ไปขอออกใบแทนโฉนดแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด จนธนาคารเร่งรัดหนี้ และต่อมาจำเลยที่ 2ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์ได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนหลัง ให้โจทก์ (หรือจำเลยที่ 1ในสำนวนคดีแรก) รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 3(หรือโจทก์ในสำนวนคดีแรก) เดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษาคำขอของจำเลยที่ 3 นอกจากนี้ให้ยก

Share