คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องระบุชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งข้อความผิดตามฟ้องนั้นมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การและจำเลยที่ 1 กับพวกให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น เป็นการฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกเพียงแต่ร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้าง ฎีกาในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่บิดเบือนเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นไปโดยมุ่งประสงค์จะโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 10 ปี ปรับคนละ 550,000 บาท ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 8 ปี ปรับคนละ 450,000 บาท รวมจำคุกคนละ 18 ปี ปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 ปี ปรับ คนละ 500,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับได้คนละไม่เกินสองปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าในวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมทำบันทึกการจับกุมแบ่งแยกว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 200 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อและค้นพบเมทแอมเฟตามีนภายหลังอีกจำนวน 80 เม็ด เป็นเหตุให้การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและลงโทษจำเลยที่ 1 กับพวกทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กับพวกเพียงแต่ร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 280 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เท่านั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 280 เม็ด น้ำหนักรวม 24.98 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 6.743 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 200 เม็ด น้ำหนัก 17.82 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 4.754 กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 35,000 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การ และจำเลยที่ 1 กับพวกให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย กล่าวคือ ศาลจะวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันได้ก็ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่านี้เสียก่อนว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 กับพวกเพียงแต่ร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 280 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในลักษณะเช่นนี้เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่บิดเบือนเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นโดยมุ่งประสงค์จะโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้อง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลล่าง และลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองในความผิดแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบา เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมานั้นเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share