แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๕๓
วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓
ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ บริษัทโรงพยาบาลบางมด จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม ที่ ๑ นางสาวรัตนา เกตุรัตนกุล ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๗ ที่ ๒ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่ ๓ นางศศิวรรณ อนันตกูล ในฐานะรองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๙๒๕/๒๕๕๐ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ นายธนพัชร เตชะรุ่งโรจน์วงศ์ หุ้นส่วนผู้จัดการและลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเจริญพลาสติก อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต ประสบอันตรายจากการถูกไฟลวกตามร่างกายหลายแห่งเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิตามบัตรรับรองสิทธิประกันสังคมของโรงพยาบาลโจทก์ และต่อมาได้ย้ายไปเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๙ บุตรสาวและบุตรชายของนายธนพัชรกับพวกได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๗ ถึงสาเหตุการประสบอันตรายของนายธนพัชรว่าไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน จำเลยที่ ๒ จึงมีหนังสือที่ รง ๐๖๒๐/๒๕๖๘ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๙ ถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลโจทก์ว่า นายธนพัชรไม่มีสิทธิรับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื่องจากการประสบอันตรายของนายธนพัชรมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานหรือมิได้เป็นโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน เมื่อนายธนพัชรมีบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของโจทก์ จึงมีสิทธิเข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๔ มีหนังสือที่ รง ๐๖๐๙/๙๒๙๐ ลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๙ ให้โจทก์รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลกรณีนายธนพัชรเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ ถึง ๒๔ มกราคม ๒๕๔๙ เป็นเงินจำนวน ๘๕๘,๒๙๑ บาท เนื่องจากการประสบอันตรายของนายธนพัชรไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานและเป็นการรักษาต่อเนื่องที่ยังไม่สิ้นสุดการรักษา โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๔ ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ ๑๖๘๒/๒๕๕๐ ไม่รับอุทธรณ์โจทก์ เนื่องจากเห็นว่าการอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ให้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ มิใช่การอุทธรณ์คำสั่งซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โจทก์เห็นว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๔ ให้โจทก์รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของนายธนพัชรที่เกิดขึ้นต่อโรงพยาบาลศิริราชเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายธนพัชรมีฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นเจ้าของโรงงาน ซึ่งมีลักษณะการทำงานเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ใด ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเจริญพลาสติกฯ จึงไม่ใช่ผู้ประกันตนที่จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในฐานะผู้ประกันตนจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ นำมาวินิจฉัยว่า การประสบอันตรายของนายธนพัชรไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นความเท็จไม่ตรงกับความจริง ทั้งการที่นายธนพัชรย้ายออกจากโรงพยาบาลโจทก์ไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชก็เป็นความประสงค์และความสมัครใจของญาติผู้ป่วย โรงพยาบาลโจทก์มีศักยภาพที่จะให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง และในการเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช ผู้ป่วยและญาติแจ้งกับโรงพยาบาลศิริราชว่าเป็นผู้ป่วยประเภททั่วไปโดยไม่ได้แจ้งใช้สิทธิประกันสังคม มิใช่กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายอันมิใช่เนื่องจากการทำงานและเข้ารับการรักษาโดยฉุกเฉินหรือกรณีที่โรงพยาบาลโจทก์ส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อ เนื่องจากเกินศักยภาพของโรงพยาบาลโจทก์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ กำหนด เมื่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มีคำสั่งให้โจทก์รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของนายธนพัชรที่มีต่อโรงพยาบาลศิริราชโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ระงับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๘๕๘,๒๙๑ บาท และไม่คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวังบูรพา เลขที่ กท.วบ. ๓๓๙/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ จำนวน ๖,๒๕๐,๐๐๐ บาท ที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยที่ ๑ เพื่อเป็นหลักประกันตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ ซึ่งพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยที่ ๑ จะต้องคืนให้แก่โจทก์แล้ว เป็นเหตุให้โจทก์ถูกธนาคารทหารไทยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการคืนหนังสือค้ำประกันล่าช้าจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน ๗๘,๑๒๕ บาท การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๗๘,๑๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระคืนให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนๆ ละ ๖,๕๑๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๑ จะคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวังบูรพา เลขที่ กท.วบ. ๓๓๙/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น กับขอให้เพิกถอนคำสั่ง ที่ รง ๐๖๒๐/๒๕๖๘ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๙ และเพิกถอนคำสั่ง ที่ รง ๐๖๐๙/๙๒๙๐ ลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๙ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑๖๘๒/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐ และให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินค่าบริการทางการแพทย์ที่ระงับการจ่ายไว้เป็นจำนวนเงิน ๘๕๘,๒๙๑ บาท ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวังบูรพา เลขที่ กท.วบ. ๓๓๙/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๘ ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องว่า มูลคดีของโจทก์เกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะคู่สัญญากับโรงพยาบาลโจทก์ ตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ให้โจทก์รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของนายธนพัชร ผู้ประกันตน ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นข้อพิพาทตามสัญญาทางปกครอง และการที่ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโจทก์ตั้งแต่แรกและต่อมาได้ย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชเพราะได้รับข้อมูลจากโรงพยาบาลโจทก์ว่าการรักษาพยาบาลกรณีถูกไฟลวกมีค่ารักษาพยาบาลสูง การใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ผู้ประกันตนจึงเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าการประสบอันตรายของผู้ประกันตนมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน โรงพยาบาลโจทก์สมควรรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชให้แก่ผู้ประกันตนเพราะเป็นการรักษาต่อเนื่องและยังไม่สิ้นสุดการรักษา ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสี่มีหนังสือขอให้โจทก์รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ จึงมิใช่คำสั่งตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเป็นปัญหาโต้แย้งเรื่องการตีความสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรับผิดของโจทก์อันเป็นที่มาให้จำเลยระงับการจ่ายเงินและไม่คืนหนังสือค้ำประกัน ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้คืนหนังสือค้ำประกันให้แก่โจทก์แล้ว เป็นประเด็นพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างให้การบริการทางการแพทย์โดยตรง มิได้เกี่ยวข้องกับปัญหาข้อพิพาทแรงงาน จึงไม่มีลักษณะเป็นคดีแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ ประกอบพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๘๗ ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานแล้วว่า คดีประเภทนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน และศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีประเภทนี้ไว้พิจารณาแล้ว จึงขอให้ศาลโอนคดีนี้ไปยังศาลปกครองกลางด้วย
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การจำเลยทั้งสี่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ ๑ ที่ รง ๐๖๐๙/๙๒๙๐ ลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๙ ซึ่งจำเลยที่ ๑ วินิจฉัยว่า การประสบอันตรายของนายธนพัชรไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน โรงพยาบาลโจทก์สมควรรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชให้แก่ผู้ประกันตนเพราะเป็นการรักษาต่อเนื่องและยังไม่สิ้นสุดการรักษา และเป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ที่ไม่รับอุทธรณ์โจทก์ เห็นว่า โจทก์โต้แย้งว่านายธนพัชรเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเจริญพลาสติก อิมปอร์ต เอ็กปอร์ต นายจ้างจึงไม่ใช่ลูกจ้างและไม่มีสิทธิประกันตน โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการรักษาพยาบาลของนายธนพัชรที่มีต่อโรงพยาบาลศิริราช และโจทก์โต้แย้งคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่มีคำสั่งว่าการประสบอันตรายของนายธนพัชรไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานและให้โจทก์รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชทำการรักษาให้แก่ผู้ประกันตน เพราะเป็นการรักษาต่อเนื่องและยังไม่สิ้นสุดการรักษา เห็นว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและที่โจทก์ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมก็เป็นการฟ้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๒) และ (๔) ส่วนคำขออื่นๆ นั้นเป็นคำขอเกี่ยวเนื่องกับคำขอดังกล่าว จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานด้วย
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ ๑ ใช้สิทธิตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เลขที่ ๐๕๓/๒๕๔๘ ฉบับลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ ระงับการจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ และไม่คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าว กรณีมีประเด็นต้องพิจารณาว่าสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์เป็นสัญญาทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงแรงงาน มีภารกิจเกี่ยวกับการบริหารการประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการประกนสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบริหารกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน คุ้มครองดูแลผู้ประกันตนและลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๑๙ (๔) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ประกอบกับข้อ ๑ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ซึ่งในการดำเนินการตามภารกิจดังกล่าว จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่จะต้องจัดให้มีประโยชน์ทดแทนในกรณีต่างๆ แก่ผู้ประกันตน ดังนั้นจำเลยที่ ๑ จึงได้จัดให้มีประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ประกันตน โดยการทำสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เลขที่ ๐๕๓/๒๕๔๘ ฉบับลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ กับโจทก์ในนามของโรงพยาบาลบางมด สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง จ้างให้โจทก์จัดทำบริการสาธารณะโดยการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อนึ่ง สำหรับกรณีที่โจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และคำสั่งของจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๔ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ นั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ มิใช่การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ส่วนกรณีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น สาระของคำวินิจฉัยดังกล่าวมิได้เป็นการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ ดังนั้น คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หรือคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ตามสัญญาให้บริการทางการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และเป็นหน่วยงานทางปกครอง อันเนื่องมาจากกรณีที่นายธนพัชร เตชะรุ่งโรจน์วงศ์ ผู้มีบัตรประกันสังคมของโรงพยาบาลโจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลจากการประสบอันตรายถูกไฟไหม้เกือบทั่วร่างกายแล้วไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราชโดยมีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๘๕๘,๒๙๑ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มีคำสั่งให้โจทก์รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชของนายธนพัชร โดยเห็นว่านายธนพัชรไม่มีสิทธิรับเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื่องจากการประสบอันตรายของนายธนพัชรมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานหรือมิได้เป็นโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน และเป็นการรักษาต่อเนื่องที่ยังไม่สิ้นสุดการรักษา โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ แต่คณะกรรมการอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์โจทก์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ให้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ มิใช่การอุทธรณ์คำสั่งซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เห็นว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ ๑ มีความผูกพันกันตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างโดยตรง ประกอบกับคู่ความยังโต้เถียงกันอยู่ว่านายพัชรเป็นลูกจ้างและประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานหรือไม่ ซึ่งจะมีผลให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามกฎหมาย ศาลจำต้องวินิจฉัยให้ได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน ทั้งคดีนี้ แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าบริการทางการแพทย์ตามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์และเรียกค่าเสียหายจากการไม่คืนหนังสือค้ำประกันตามสัญญา แต่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ที่มีคำสั่งให้โจทก์รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตนที่เข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิบัติตามมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ทั้งสิ้น และในมาตรา ๘๗ วรรคสามก็บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงาน จากเหตุผลดังกล่าว คดีจึงมิใช่เป็นข้อพิพาทเรื่องสัญญาทางปกครอง แต่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับแรงงาน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทโรงพยาบาลบางมด จำกัด โจทก์ สำนักงานประกันสังคม ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๗ ที่ ๒ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่ ๓ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ