คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองได้รับส่วนแบ่งมรดกคือบ้านและที่ดินที่ใช้ปลูกบ้านและได้เข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองการที่โจทก์ทั้งสองผ่านที่ดินของจำเลยและทายาทอื่นออกสู่ทาสาธารณะโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีทางออกทางอื่นเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์ทั้งสองจึงได้ภารจำยอมในการผ่านที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยและทายาทอื่น แต่ทางภารจำยอมที่โจทก์ทั้งสองแสดงไว้แตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์และมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระแก่ที่ดินอันเป็นภารยทรัพย์เกินความจำเป็น ศาลเห็นสมควรกำหนดทางภารจำยอมของโจทก์ทั้งสองเสียใหม่ให้เหมาะสมและเป็นธรรม การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าเงินที่ อ. ซื้อที่ดินพิพาทที่ส่วนที่เป็นมรดกรวมอยู่ด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมทำให้เสียสิทธิของจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้

ย่อยาว

คดีสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยพันตำรวจเอกโกมลและนายโกเมศเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจันทร์ และนางอี่ นายจันทร์ถึงแก่กรรมมีมรดกคือสิทธิการเช่าตึกแถว 1 ห้อง บ้านไม้ 1 หลัง และที่ดิน 1 แปลง ซึ่งทายาทครอบครองร่วมกันจนกระทั่งปี 2503 จึงตกลงขายสิทธิการเช่าตึกแถวแล้วนำเงินไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 21041 โดยให้มารดาลงชื่อในโฉนดถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน ต่อมาปี 2504 มารดาและทายาททุกคนตกลงแบ่งมรดกที่ดินดังกล่าวกันเป็นสัดส่วน โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองปลูกบ้านมีรั้วเป็นขอบเขตที่แน่ชัดโดยสงบเปิดเผยตลอดมารวมทั้งใช้ที่ดินในส่วนของจำเลยกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ6 เมตร เป็นทางออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลา 25 ปีแล้ว ต่อมาโจทก์ทั้งสองทราบว่ามารดาจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21041 ให้แก่จำเลยผู้เดียวเมื่อปี 2524 การรับโอนที่ดินของจำเลยไม่สุจริตจำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 21041 เนื้อที่ 30 ตารางวาในกรอบเส้นสีเหลืองในแผนที่สังเขปท้ายฟ้องแก่โจทก์ที่ 1และเนื้อที่ 21 ตารางวา ในกรอบเส้นสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้องแก่โจทก์ที่ 2 หากจำเลยไม่จัดการแบ่งแยกก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยเปิดประตูทางเข้าบ้าน และจัดการจดทะเบียนที่ดินเส้นทางดังกล่าวเป็นทางภารจำยอมกับใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การเป็นใจความว่า มารดาได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 21041 มาโดยชอบและถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวไม่ใช่ที่ดินมรดกของบิดาไม่ได้ครอบครองแทนบุคคลอื่นมารดาทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมบ้านให้แก่จำเลยโจทก์ทั้งสองไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยปรปักษ์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง และไม่มีสิทธิขอให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมที่ดิน โจทก์ทั้งสองไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 2 ถึงแก่กรรม จ่าสิบเอกกนกศักดิ์ทายาทของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 21041ที่โจทก์แต่ละคนครอบครองปลูกบ้านอยู่ โดยแบ่งแยกให้แก่โจทก์ที่ 1เนื้อที่ 30 ตารางวา ให้จ่าสิบเอกกนกศักดิ์ในฐานะผู้รับมรดกความของโจทก์ที่ 2 เนื้อที่ 21 ตารางวา หากจำเลยไม่จัดการแบ่งแยกก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยจดทะเบียนทางภารจำยอมกว้าง 3 เมตร ยาวตลอดแนวจากหน้าประตูรั้วบ้านโจทก์ทั้งสองไปจนถึงประตูใหญ่ออกสู่ถนนสาธารณะหากจำเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนทางภารจำยอมดังกล่าวก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า เงินที่นางอี่ซื้อที่ดินพิพาทมีส่วนที่เป็นมรดกรวมอยู่ด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมทำให้เสียสิทธิของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้ และเห็นสมควรวินิจฉัยรวมกับฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับส่วนแบ่งมรดกคือที่ดินพิพาทของแต่ละคนและครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมาหรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์ที่นางอี่นำมาซื้อที่ดินตามโฉนดเลขที่ 21041 แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร และปลูกบ้านสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวรวม 3 หลังนั้นมีส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายจันทร์รวมอยู่กับส่วนที่เป็นทรัพย์ของนางอี่ด้วยมิใช่ทรัพย์ของนางอี่แต่เพียงผู้เดียว ประกอบกับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนางอี่เช่นเดียวกับจำเลยและพฤติการณ์ส่วนใหญ่ของนางอี่ที่ผ่านมานางอี่ให้ความรักความห่วงใยแก่บุตรทุกคนเห็นได้จากกรณีของโจทก์ทั้งสองแม้จะมีครอบครัวแล้วก็ยังไม่เคยแยกครอบครัวออกไปอยู่ต่างหากยังอยู่กับนางอี่รวมเป็นครอบครัวเดียวกันตลอดมา การที่นางอี่ให้ทรัพย์สิ่งใดแก่บุตรก็มีเหตุผลให้เน่าเชื่อว่าต้องให้บุตรแต่ละคนได้รับเสมอกัน จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่นางอี่จะแบ่งทรัพย์เฉพาะบ้านให้โจทก์ทั้งสองคนละหลัง ส่วนจำเลยนั้นให้บ้านหลังใหญ่และที่ดินทั้งแปลงใหญ่จึงเชื่อว่า โจทก์ทั้งสองได้รับส่วนแบ่งมรดกคือบ้านและที่ดินที่ใช้ปลูกบ้านและได้เข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ทั้งสองต่างครอบครองจึงตกเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสอง นางอี่ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปยกให้แก่จำเลย เมื่อฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองมาแต่แรกแล้ว ที่ดินนอกจากที่ดินพิพาทย่อมเป็นส่วนของทายาทอื่นการที่โจทก์ทั้งสองผ่านที่ดินทายาทอื่นออกสู่ทางสาธารณะโดยไม่มีทางออกทางอื่นเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้ภารจำยอมในการผ่านที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยและทายาทอื่นออกสู่ทางสาธารณะแต่ลักษณะของทางภารจำยอมที่โจทก์แสดงไว้ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องนั้นเห็นว่าภารจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์และมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระแก่ที่ดินอันเป็นภารยทรัพย์เกินความจำเป็นจึงเห็นสมควรกำหนดทางภารจำยอมของโจทก์เสียใหม่ให้เหมาะสมและเป็นธรรม
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับทางภารจำยอมกว้าง 3 เมตรนั้น ให้ทอดยาวจากประตูรั้วหน้าบ้านจำเลยเลียบชิดกำแพงรั้วของจำเลยทางด้านทิศเหนือไปทางทิศตะวันออกจดรั้วด้านหน้าบ้านโจทก์ที่ 1 เลียบชิดขอบรั้วด้านหน้าบ้านโจทก์ที่ 1 ไปทางทิศใต้จดถึงประตูรั้วบ้านโจทก์ที่ 2

Share