คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเงินเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงยุติตามที่ได้ประเมินจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง เงินประกันค่าอากรขาเข้าที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยให้แก่โจทก์นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้ กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้การฟ้องแย้งเรียกค่าอากรขาเข้าคืนจึงมิใช่การฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 การที่จำเลยเรียกคืนเงินอากรขาเข้าที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยไปตามที่โจทก์ประเมินและแจ้งให้ชำระเพิ่มนั้น มิใช่กรณีใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงก่อนนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ซึ่งสิทธิเรียกร้องจะสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า ตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสุดท้าย แต่เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินและแจ้งให้จำเลยชำระค่าอากรขาเข้าเพิ่มเติมภายหลังจากนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว และธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระแทนจำเลย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่) และการนับอายุความนั้นให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปอายุความสิทธิเรียกร้องเงินค่าอากรขาเข้าคืนของจำเลยจึงเริ่มนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2532 ที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยนำคดีมาฟ้องแย้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2535ยังไม่พ้น 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ และจำเลยมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าอากรขาเข้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เรียกเก็บไปในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคสุดท้าย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยได้ทวงถามและโจทก์ผิดนัดหรือไม่ แต่จำเลยขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงให้ดอกเบี้ยตามอัตราที่ขอ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรแต่สำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด พนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรแก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยมิได้นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระและมิได้อุทธรณ์การประเมินหรือยื่นคำโต้แย้ง และโจทก์ที่ 1 ได้นำเงินประกันที่ธนาคารชำระจำนวน 47,100 บาท หักออกจากค่าภาษีอากรที่จำเลยต้องชำระแล้วขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินประกันที่ธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระตามสัญญาประกันแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 47,100 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีอากร 417,347.04 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน จากต้นเงินอากรขาเข้า 111,777.95 บาท เป็นรายเดือน เดือนละ 1,117.78 บาทเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินภาษีการค้า 98,517.80 บาท เป็นรายเดือน เดือนละ1,477.77 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 9 เมษายน 2535) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง (เฉพาะเงินเพิ่มภาษีการค้าเมื่อรวมกับที่โจทก์ทั้งสองคิดคำนวณมาถึงวันฟ้องต้องไม่เกินกว่าต้นเงินภาษีการค้า) รวมทั้งให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าแก่โจทก์ทั้งสอง ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2530 จำเลยนำสินค้าระบบตรวจจับเวลาทางการกีฬา 1 ชุด ประกอบด้วยสกอร์บอร์ดเครื่องบังคับเกม เครื่องบังคับเวลา และส่วนประกอบสำหรับสกอร์บอร์ดจากเมืองฮ่องกงโดยทางเรือเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงราคาสินค้าเป็นเงิน 29,570.30 บาท อากรขาเข้า11,833.12 บาท ภาษีการค้า 10,203.91 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล1,020.39 บาท จำเลยได้ชำระภาษีอากรตามที่ได้สำแดงไว้และได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นหลักประกันค่าภาษีอากรอีกส่วนหนึ่งคือ เป็นประกันค่าอากรขาเข้า 24,000 บาท ภาษีการค้า21,000 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 2,100 บาท รวมเป็นเงิน 47,100บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงได้ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2530 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสอบราคาสินค้าโดยอาศัยข้อมูลจากราคาที่ผู้ส่งออกตกลงขายให้จำเลย ณ เมืองฮ่องกง ประเมินราคาสินค้าคำนวณเป็นเงิน 369,015.19 บาท ราคา ซี.ไอ.เอฟ. จำเลยจะต้องชำระอากรขาเข้าเพิ่ม 135,777.95 บาท ภาษีการค้าเพิ่ม 119,517.80 บาทและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม 11,951.78 บาท จำเลยได้ทราบการประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระและมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินหรือยื่นคำโต้แย้งภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน แล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ที่โจทก์ทั้งสองประเมินราคาสินค้าและอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นไม่ชอบ แต่ในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเงินเพิ่มนั้น จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงยุติตามที่ได้ประเมิน จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องที่พร้อมเงินเพิ่มตามฟ้อง
เมื่อฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้น ปัญหาที่ว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกคืนอากรขาเข้าเคลือบคลุมและขาดอายุความหรือไม่และจำเลยมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในค่าอากรขาเข้าที่เรียกคืนหรือไม่ซึ่งศาลภาษีอากรกลางยังไม่ได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน ในปัญหาที่ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกคืนค่าอากรขาเข้าเคลือบคลุมหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เคลือบคลุม
ปัญหาว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกคืนอากรขาเข้าขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในค่าอากรขาเข้าที่เรียกคืนหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินประกันที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลย 47,100 บาท นั้น เป็นเงินประกันค่าอากรขาเข้า 24,000 บาทภาษีการค้า 21,000 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 2,100 บาท สำหรับเงินประกันค่าอากรขาเข้า 24,000 บาท ที่โจทก์ที่ 1 รับชำระไปจากจำเลยเป็นเรื่องที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยไปตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์ที่ 1 วางไว้ กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ที่ 1 ได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ การฟ้องแย้งเรียกค่าอากรขาเข้าคืนจึงมิใช่การฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ราคาสินค้าพิพาทมีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530 การประเมินให้จำเลยชำระค่าอากรขาเข้าเพิ่มเติมของโจทก์ที่ 1 ไม่ชอบ เหตุนี้จำเลยจึงมีสิทธิเรียกเงินค่าอากรขาเข้าที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยไปแล้ว 24,000 บาทคืนได้ ที่โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งต่อสู้ว่า กฎหมายกำหนดให้จำเลยใช้สิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนภายใน 2 ปี นับจากวันที่นำสินค้าเข้า (วันที่ 28 พฤษภาคม 2530) และจะต้องโต้แย้งหรือแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนว่าจะเรียกคืน แต่จำเลยก็มิได้โต้แย้งดังกล่าว และนำคดีมาฟ้องแย้งเมื่อล่วงเลยอายุความตามกฎหมายแล้วนั้น เห็นว่า การที่จำเลยเรียกคืนเงินค่าอากรขาเข้าที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยไป 24,000 บาท เมื่อวันที่ 7เมษายน 2532 ตามที่โจทก์ที่ 1 ประเมินและแจ้งให้ชำระเพิ่มนั้นมิใช่กรณีใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้า เพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงก่อนนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร สิทธิของจำเลยที่จะเรียกเงินอากรขาเข้านี้คืนจึงมิได้เป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10วรรคสุดท้าย กรณีคดีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินและแจ้งให้จำเลยชำระค่าอากรขาเข้าเพิ่มเติมภายหลังจากนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว และธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระแทนจำเลยไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2532 ฉะนั้น การนับอายุความจึงให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปอายุความสิทธิเรียกร้องเงินค่าอากรขาเข้าคืนของจำเลยจึงเริ่มนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2532 และสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่)จำเลยนำคดีมาฟ้องแย้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2535 ยังไม่พ้น 10 ปีฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกคืนค่าอากรขาเข้าไม่ขาดอายุความ และจำเลยมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าอากรขาเข้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เรียกเก็บเพิ่มไป 24,000 บาท ในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 112 จัตวา วรรคสุดท้าย ที่โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งต่อสู้ว่าจำเลยไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยตามฟ้องแย้งเพราะจำเลยไม่ได้ทวงถาม โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ผิดนัดนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา112 จัตวา วรรคสุดท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ต้องคืนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่ได้เรียกไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ0.625 ต่อเดือนของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน” โจทก์ทั้งสองจึงต้องคืนเงินค่าอากรขาเข้าที่เรียกเก็บเพิ่มไป 24,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว แต่จำเลยขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจึงให้ดอกเบี้ยตามอัตราที่ขอ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเงินเพิ่มรวม 149,782.57 บาท กับเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีการค้าจำนวน 98,517.80 บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันที่ 16เมษายน 2532 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มนี้เมื่อรวมกับเงินเพิ่มที่โจทก์ทั้งสองคิดมาแล้วข้างต้นมิให้เกินกว่าเงินภาษีการค้าจำนวน 98,517.80 บาท และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าแก่โจทก์ทั้งสองและให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินอากรขาเข้า 24,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2532 จนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืนแก่จำเลย

Share