แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดฐานตัดฟันทำไม้ แปรรูปไม้ และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 11,48,73 แม้จำเลยจะกระทำต่อไม้จำนวนเดียวกัน แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน การที่จำเลยเข้าไปตัดฟันทำไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดสำเร็จฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ทันทีที่จำเลยเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกับความผิดฐานตัดฟันทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง แต่การที่จำเลยเข้าไปตัดฟันทำไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ย่อมเป็นความผิดทั้งฐานตัดฟันทำไม้ตามมาตรา 73 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯและฐานตัดโค่นต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ กรณีทั้งสองเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานตัดฟันทำไม้ตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2500 (ที่ถูก พ.ศ. 2503) มาตรา 19, 23,24, 42, 44 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 47,48, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 มาตรา 3พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 7, 19 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2525 มาตรา 4 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติคุ้มครองป่า พ.ศ. 2481 มาตรา 10, 21พระราชบัญญัติ คุ้มครองป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2497 มาตรา 7, 8ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลางจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2500(ที่ถูก พ.ศ. 2503) มาตรา 19, 23, 24, 42, 44 พระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 47, 48, 73, 74, 74 ทวิพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3พระราชบัญญัติ คุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2481 มาตรา 10, 21พระราชบัญญัติ คุ้มครองป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2497 มาตรา 7, 8ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ให้เรียงกระทงลงโทษฐานทำไม้หวงห้ามเป็นกรรมเดียวกับฐานทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสองซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกคนละ 2 ปี ฐานแปรรูปไม้หวงห้าม จำคุกคนละ2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปหวงห้ามจำคุกคนละ 2 ปี ฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 600 บาท และฐานเข้าไปตัดโค่นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 7 ปี ปรับคนละ 600 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี 6 เดือนและปรับคนละ 300 บาท ค่าปรับหากไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้ริบ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับมาเพียงประการเดียวว่า การกระทำผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ฯ มาตรา 73 เพียงกระทงเดียวหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เฉพาะความผิดฐานตัดฟันทำไม้ แปรรูปไม้ และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ที่โจทก์ฟ้องนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำต่อไม้จำนวนเดียวกันแต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ส่วนความผิดฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานตัดโค่นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 23 และมาตรา 24 นั้น มีปัญหาว่าการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้จะเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานตัดฟันทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ บัญญัติว่า “…ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่…” และมาตรา 24 บัญญัติว่า “ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปครอบครองยึดถือที่ดิน หรือตัด โค่น…ต้นไม้หรือพฤกษชาติอื่น…” ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับความผิดฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าวนั้นย่อมเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่จำเลยที่ 1เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เข้าไปตัดฟันทำไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องนั้นย่อมเป็นความผิดทั้งตามมาตรา 73 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และตามมาตรา 24แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 กระทำในคราวเดียวกันการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษฐานตัดฟันทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วนและปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดและมิได้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเฉพาะความผิดฐานตัดฟันทำไม้ ตามมาตรา 73 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และความผิดฐานตัดโค่นต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 24 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯมาตรา 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 รวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปีปรับคนละ 300 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์