แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ได้แสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 หรือไม่ แม้ฟ้องโจทก์จะกล่าวว่าจำเลยที่ 3 แสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1มาด้วยก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้ และโจทก์ก็มิได้คัดค้าน ถือได้ว่าโจทก์สละประเด็นข้อนี้แล้ว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๒๕ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้เชิดจำเลยที่ ๓ ให้แสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ได้แสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ โดยเข้าทำสัญญาซื้อผลิตภัณฑ์คอนกรีตไปจากโจทก์และเป็นหนี้อยู่ ๓๗๔,๗๑๗ บาท กับดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๗,๖๙๙ บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน๓๘๒,๔๑๖ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงิน๓๗๔,๗๑๗ บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่เคยทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตกับโจทก์ และไม่เคยเชิดจำเลยที่ ๓ ให้แสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ อ้างชื่อจำเลยที่ ๑ เข้าทำนิติกรรมกับโจทก์โดยพลการ ตราประทับในเอกสารหมายเลข ๓-๔ ท้ายฟ้องไม่ใช่ของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ไม่เคยทำสัญญารับจ้างปรับปรุงชุมชนแออัดวัดโพธิ์แก้วกับการเคหะแห่งชาติทั้งไม่เคยมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเข้ากระทำการดังกล่าวได้
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไม่รับรองว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อนายเทพรัตน์ เหลืองสุวรรณ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และทำสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมายเลข ๓-๔ ท้ายฟ้องในนามจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ ๓ ได้ส่งมอบเสาเข็มและแผ่นพื้นคอนกรีตคืนให้โจทก์ไปบางส่วน เพราะไม่ถูกต้องตามแบบ คิดเป็นเงินประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาทจำเลยที่ ๓ ไม่เคยสั่งซื้อเพิ่มและลดผลิตภัณฑ์คอนกรีตจากโจทก์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๕ และ ๖ โจทก์ทำขึ้นเอง ค่าเสียหายตามฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี เรียกได้ไม่เกินร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยอมรับผิดชำระเงินให้โจทก์๑๘๖,๖๗๐ บาท โจทก์คงดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๓ ต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๓๘๒,๔๑๖ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงิน ๓๘๒,๔๑๖ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้รับผิดไม่เกิน ๑๘๖,๖๗๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ไปแสดงตนต่อโจทก์ขอซื้อผลิตภัณฑ์คอนกรีต ๒ ครั้ง ได้ทำสัญญาซื้อขายกันไว้ตามสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตเอกสารหมาย จ.๔,จ.๕ มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ ๓ ได้แสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มิใช่เป็นเพียงตัวแทนเชิดของจำเลยที่ ๑ อย่างเดียว จำเลยที่ ๓ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๕๔ หรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ ๓เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ได้แสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ แม้ฟ้องโจทก์จะกล่าวว่าจำเลยที่ ๓ แสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑มาด้วยก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้ และโจทก์ก็มิได้คัดค้านแต่อย่างใด ถือได้ว่าโจทก์สละประเด็นข้อนี้แล้ว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าต่อโจทก์
พิพากษายืน.