คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6492/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามข้อตกลงกำหนดให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในปีที่ถูกเลิกจ้างได้ โจทก์จึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนสำหรับวันที่สะสมมาในปีที่ถูกเลิกจ้าง เมื่อโจทก์มิได้หยุดพักผ่อนและถูกเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยคิดคำนวณจากค่าจ้างในปีที่เลิกจ้างนั้นให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับจำเลยผู้เป็นนายจ้าง จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเอง ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจากจำเลยศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ฯลฯ “จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อที่สามว่า การหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์แต่ละคนจะเลือกหยุดวันใดก็ได้ จำเลยไม่เคยยับยั้ง แต่โจทก์แต่ละคนไม่ใช้สิทธิลาหยุดเองการเรียกเอาค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และที่ศาลแรงงานกลางคำนวณค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสม โดยคิดจากค่าจ้างของปีที่ถูกเลิกจ้างเป็นการไม่ถูกต้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมิได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์แต่ละคนลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ในช่วงใด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์แต่ละคนไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเอง โจทก์แต่ละคนจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลยได้และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด ส่วนการคิดคำนวณค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเลื่อนไปรวมหยุดในปีที่ถูกเลิกจ้างนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อมีการตกลงให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในปีที่ถูกเลิกจ้างโจทก์แต่ละคนย่อมมีสิทธิหยุดพักผ่อนสำหรับวันที่สะสมมาในปีที่ถูกเลิกจ้างได้ เมื่อโจทก์แต่ละคนมิได้หยุดพักผ่อนและถูกเลิกจ้างโดยที่มิได้กระทำความผิด จำเลยก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยคิดคำนวณจากค่าจ้างในปีที่เลิกจ้างให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางคิดคำนวณมาจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share