คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6085/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ขณะโจทก์นำสัญญาค้ำประกันมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะแห่งตราสารข้อ 17(ก) ซึ่งแก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526มาตรา 13 บัญญัติให้ผู้ค้ำประกันต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาทในสัญญาค้ำประกันสำหรับกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ แต่ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526มาตรา 16 ก็บัญญัติไว้ว่า บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่ได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนถูกต้องตามประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับในขณะที่ทำสัญญา จึงยังคงใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้พันตำรวจตรีศุภชัย ดวงพัตรานายวัน ทองขาว นายจีระศักดิ์ สุขพัฒน์ธี คนใดคนหนึ่งฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันการทำงาน โดยมีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ในเรื่องการงาน จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมเมื่อเดือนเมษายน 2526 จำเลยที่ 1ได้ขายรถยนต์ของโจทก์ให้แก่นายบุญเจ้า แซ่อุ้ย ราคา 260,000 บาทต่ำกว่าราคาจริง 6,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเรียบร้อยแล้วแต่มอบเงินให้แก่โจทก์เพียง 3,000 บาท พร้อมกับเช็คจำนวน43,000 บาท ซึ่งอ้างว่าเป็นเช็คที่ผู้ซื้อสลักหลักจ่ายให้แก่โจทก์โจทก์นำเช็คเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์สอบถามผู้ซื้อจึงทราบความจริงว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ ขอคิดค่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินจำนวน 43,000 บาทนับแต่วันที่ 19 เมษายน 2526 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำการทุจริตต่อโจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี 3 เดือนเศษ เป็นเงิน 16,950 บาทขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 59,950 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจาก จำนวนเงิน 43,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและผู้ค้ำประกันปลอมหนังสือค้ำประกันปิดอากรแสตมป์ไม่ถูกต้องรับฟังไม่ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 59,950 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงิน 43,000 บาทนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2521 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้สำหรับการที่จำเลยที่ 1สมัครเข้าทำงานกับโจทก์ โดยสัญญาค้ำประกันปิดอากรแสตมป์เพียง 1 บาทมีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้เงินให้แก่โจทก์ในเรื่องการงานจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2526จำเลยที่ 1 ได้เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป 43,000 บาท ที่จำเลยที่ 2ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท จึงจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้นั้น เห็นว่าแม้ขณะโจทก์นำสัญญาดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะแห่งตราสารข้อ 17(ก) ซึ่งแก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526มาตรา 13 บัญญัติให้ผู้ค้ำประกันต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาทในสัญญาค้ำประกันสำหรับกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ แต่ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526มาตรา 16 ก็บัญญัติไว้ว่า บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นเป็นสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ที่ได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนถูกต้องตามประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา จึงยังคงใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share