คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานที่นำภาพการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ในทางการค้าลักษณะงานตามฟ้องจึงเข้าลักษณะเป็นงานศิลปประยุกต์ กล่าวคือ เป็นงานที่นำเอางานภาพการ์ตูนไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว โดยนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าตามนิยามคำว่า “งานศิลปประยุกต์” ในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมาตรา 22 บัญญัติไว้ว่าลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก งานของผู้เสียหายมีการโฆษณางานเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 งานดังกล่าวจึงมีอายุการคุ้มครองอยู่ถึงเพียงวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ งานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้าตามฟ้องจึงไม่มีลิขสิทธิ์อีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 61, 70, 75, 76 และให้ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าสตางค์ พัด พัดลม และที่คลุมผมอาบน้ำ ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า งานตามฟ้องยังเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้า ลักษณะงานตามฟ้องจึงเข้าลักษณะเป็นงานศิลปประยุกต์ กล่าวคือ งานที่นำเอางานภาพการ์ตูนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น โดยนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าตามนิยามของคำว่า งานศิลปประยุกต์ ในมาตรา 4 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เมื่อตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องระบุไว้ว่า งานของผู้เสียหายมีการโฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 ที่ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่องานศิลปประยุกต์ตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 บัญญัติไว้ว่าลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุ 25 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก เมื่องานตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 งานดังกล่าวซึ่งมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 25 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกจึงมีอายุการคุ้มครองอยู่ถึงเพียงวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ขณะเกิดเหตุตามฟ้องคดีนี้ในวันที่ 3 สิงหาคม 2549 งานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้าตามฟ้องจึงไม่มีลิขสิทธิ์อีกต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปเพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share