คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4402/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 บัญญัติให้ผู้รับประเมินที่ไม่พอใจในการประเมินอาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า บริษัท ซ. เจ้าของโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวเป็นผู้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาท และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งรายการประเมินไปยังบริษัท ซ. อันเป็นการแจ้งรายการประเมินแก่ผู้รับประเมินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 24 แล้ว ดังนั้นผู้รับประเมินที่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงหมายถึงบริษัท ซ. แม้โจทก์จะมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ก็ไม่เป็นผู้รับประเมินในกรณีนี้และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ทั้งตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 37 ก็บัญญัติให้ผู้รับประเมินที่จะต้องลงนามในแบบพิมพ์ใดจะให้ตัวแทนลงนามแทนก็ได้ โดยต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อโจทก์ยื่นแบบพิมพ์คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 9) ในนามของตนเองโดยบริษัท ซ. ผู้รับประเมินไม่ได้มอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลงนามแทนได้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และถือว่าไม่มีการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 จำนวนเงินที่ประเมินจึงเป็นจำนวนเด็ดขาด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2548 (ภ.ร.ด. 8) ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ของจำเลยที่ 3 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ประเมินเรียกเก็บสูงไปจำนวน 2,468,977.24 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543 โจทก์เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาคารเลขที่ 1 หมู่ที่ 8 ซอยพหลโยธิน 50 ถนนพหลโยธิน แขวงคลองถนน (อนุสาวรีย์) เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร จากบริษัท ซี. ซี. เซ็นเตอร์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด มีกำหนดเวลา 9 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2544 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2553 และได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2544 โจทก์ใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าในนามห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาดอนเมือง ตามข้อ 16 ของสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว กำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของทรัพย์สินที่เช่าตลอดเวลาการเช่า บริษัท ซี. ซี. เซ็นเตอร์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด เป็นผู้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ในปีภาษีพิพาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องตามรายการของบริษัท ซี. ซี. เซ็นเตอร์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด และกำหนดเป็นค่ารายปี 58,344,600.80 บาท ค่าภาษี 7,293,075.10 บาท โดยแจ้งให้บริษัท ซี. ซี. เซ็นเตอร์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด ทราบเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ในนามของตนเอง โดยขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่เฉพาะส่วนพื้นที่ที่โจทก์นำออกให้บุคคลภายนอกเช่าช่วง อ้างเหตุผลว่าการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีเท่ากับค่าเช่าช่วงรายเดือน คูณ 12 คิดเป็นค่ารายปี 23,083,560.80 บาท นั้นไม่ถูกต้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องถือว่าค่าเช่าตามจำนวนที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท ซี. ซี. เซ็นเตอร์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด เป็นค่ารายปี มิใช่คิดจากค่าเช่าที่โจทก์ได้รับจากบุคคลภายนอกผู้เช่าช่วง และไม่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้อีก คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่พิจารณาแล้วมีมติไม่รับคำร้องดังกล่าวของโจทก์ไว้พิจารณา และจำเลยที่ 2 มีหนังสือที่ กท 0405/7046 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2548 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถรับคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไว้พิจารณาได้เพราะผู้ยื่นคำร้องมิได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลงนามแทนผู้รับประเมิน โจทก์ได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ได้และมีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 25 บัญญัติให้ผู้รับประเมินที่ไม่พอใจในการประเมินอาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า บริษัท ซี. ซี. เซ็นเตอร์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด เจ้าของโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวเป็นผู้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาท และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งรายการประเมินไปยังบริษัท ซี. ซี. เซ็นเตอร์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด อันเป็นการแจ้งรายการประเมินแก่ผู้รับประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 24 แล้ว ดังนั้น ผู้รับประเมินที่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงหมายถึงบริษัท ซี. ซี. เซ็นเตอร์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด แม้โจทก์จะมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ก็ไม่เป็นผู้รับประเมินในกรณีนี้และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ทั้งตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 37 ก็บัญญัติให้ผู้รับประเมินที่จะต้องลงนามในแบบพิมพ์ใดจะให้ตัวแทนลงนามแทนก็ได้ โดยต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อโจทก์ยื่นแบบพิมพ์คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 9) ในนามของตนเองโดยบริษัท ซี. ซี. เซ็นเตอร์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด ผู้รับประเมินไม่ได้มอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลงนามแทนได้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และถือว่าไม่มีการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 25 จำนวนเงินที่ประเมินจึงเป็นจำนวนเด็ดขาด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share