คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลแรงงานกลาง คดีจึงเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากคดีแรงงาน การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามวิธีที่ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54กล่าวไว้โดยเฉพาะ นั่นคือ จะกระทำได้ก็แต่เฉพาะ การอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่งนั้น จะอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์หลังจากพ้นกำหนดให้อุทธรณ์นั้นแล้วมิได้.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินรวม 3 รายการ เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่โจทก์นำยึดมิใช่เป็นทรัพย์สินของจำเลย หากแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง โดยจำเลยเช่าทรัพย์สินดังกล่าวไปจากผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ร้องนี้เป็นอุทธรณ์ในชั้นขอขัดทรัพย์มิใช่คดีแรงงานจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 55แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ผู้ร้องจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางในปัญหาข้อเท็จจริงได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ภายในกำหนด 1 เดือน
ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …”คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลแรงงานกลางจึงเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากคดีแรงงาน เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องขัดทรัพย์ ก็ชอบที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้เฉพาะแต่ในข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่งนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องมิได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาภายในกำหนดสิบห้าวันตามนัยแห่งบทกฎหมายดังกล่าว แต่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์ต่อคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้อง จึงชอบแล้ว”.
พิพากษายืน.

Share