คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3505/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ทางด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์จะเคยมีทางสาธารณะอยู่แต่ได้ขุดเป็นลำเหมืองสำหรับปล่อยน้ำทิ้งมานานประมาณ 20 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน ไม่มีน้ำตลอดทั้งปี ไม่สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ทางดังกล่าวจึงไม่เป็นทางสาธารณะตามของ ป.พ.พ.มาตรา 1349 ส่วนทางที่โจทก์จะสามารถใช้ออกสู่ทางสาธารณะใช้อีกทางหนึ่งคือ คันคลองส่งน้ำด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ แต่ทางดังกล่าวต้องผ่านที่ดินของผู้อื่นจำนวนหลายแปลงด้วยกัน และมีระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทั้งโจทก์ไม่เคยใช้เป็นเส้นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะเป็นปกติมาก่อนเลย เมื่อเปรียบเทียบกับทางพิพาทซึ่งเป็นทางตรงมีระยะทางเพียง 18เมตร ทางพิพาทย่อมสะดวกและมีความเหมาะสมมากกว่า ทั้งทำให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุด เพราะทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยเพียงแปลงเดียวจำเลยจะเกี่ยงให้โจทก์ไปใช้เส้นทางอื่นในที่ดินคนอื่นที่โจทก์ไม่ได้ใช้เป็นปกติมาก่อนเป็นทางเข้าออกไม่ได้ และเมื่อคำนึงถึงอนาคต โจทก์อาจใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเข้าออกทางพิพาท เห็นสมควรกำหนดให้ทางพิพาทมีขนาดความกว้าง 2.50 เมตรซึ่งไม่เกินคำขอของโจทก์ได้
โจทก์อ้างความจำเป็นที่จะต้องนำน้ำจากคลองชลประทานเข้าไปใช้ในที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดต่อกับที่ดินของจำเลยโดยวางท่อระบายน้ำผ่านที่ดินของจำเลย พร้อมทั้งเสนอให้ค่าทดแทนเป็นรายปี แต่เมื่อปรากฏว่าทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์มีคลองส่งน้ำ และทางด้านทิศเหนือก็มีลำเหมืองสาธารณะอยู่และคลองส่งน้ำนั้นมีน้ำบริบูรณ์ ส่วนลำเหมืองสาธารณะนั้น แม้จะมีสภาพตื้นเขินอยู่บ้างแต่ยังก็มีน้ำมากพอสมควร ประกอบกับจะมีน้ำที่ปล่อยจากบ่อเลี้ยงกุ้งของผู้อื่นหลายรายลงมาในลำเหมืองอยู่เสมอ ๆ โจทก์จึงสามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำทั้งสองแห่งนี้ได้อย่างเพียงพอแล้ว จึงไม่ควรที่จะให้จำเลยจำต้องยอมรับภาระจำยอมในอันที่จะให้โจทก์วางท่อระบายน้ำและตั้งเครื่องสูบน้ำบนที่ดินของจำเลยอีก
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายที่มาตักดินบริเวณที่จอดรถยนต์ที่โจทก์ทำไว้เป็นเงิน 15,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็น ส่วนคำขอในเรื่องค่าเสียหายให้ยก ดังนี้ เมื่อค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาในชั้นอุทธรณ์ เป็นค่าเสียหายในมูลละเมิด และมิใช่เป็นคำขอต่อเนื่องในเรื่องเดียวกันกับเรื่องทางจำเป็น จึงเป็นคนละมูลกรณีกัน สิทธิในการอุทธรณ์ของโจทก์ย่อมต้องแยกพิจารณา เมื่อคดีในส่วนค่าเสียหายมีทุนทรัพย์ไม่เกิน50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา224 วรรคหนึ่ง

Share