คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1999/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในสัญญาที่ว่า “ผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเงินจำนวนหนึ่ง เมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว” นั้นไม่ใช่เป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงินชดเชยว่าจะจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างต่อเมื่อสำนักงบประมาณอนุมัติให้จ่าย หากไม่รับอนุมัติก็ไม่ต้องจ่าย แต่เป็นวิธีการที่จะจ่ายเงินค่าจ้างให้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญารับจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารที่พักพยาบาลของโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงคราม ค่าจ้าง 620,000 บาท ระหว่างก่อสร้างสิ่งก่อสร้างและแรงงานมีราคาสูงผิดปกติ จำเลยจึงทำสัญญาชดเชยเงินค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์ตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเงิน 257,920 บาท โจทก์ก่อสร้างอาคารเสร็จและส่งมอบแก่คณะกรรมการตรวจรับของจำเลยแล้ว แต่จำเลยผิดสัญญาไม่จ่ายเงินชดเชยให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยให้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าวให้โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่จ่ายเงินชดเชยให้โจทก์เพราะสำนักงบประมาณไม่อนุมัติให้จ่าย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้โจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาเงินชดเชยข้อ 4 ที่มีความว่า “ผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้รับจ้างเป็นจำนวนเงิน 257,920 บาท เมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว” นั้น สัญญาดังกล่าวทำขึ้นเพื่อเพิ่มเงินค่าก่อสร้างให้แก่ผู้รับจ้างคือโจทก์ เป็นการเพิ่มเงินค่าก่อสร้างให้สูงขึ้นกว่าสัญญาเดิม ส่วนข้อกำหนดสัญญาอื่น ๆ คงเป็นไปตามสัญญาเดิมทุกประการ เหตุที่ต้องเพิ่มเงินค่าก่อสร้าง เป็นเพราะเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างมีราคาสูงขึ้นผิดปกติ หากจำเลยผู้ว่าจ้างไม่เพิ่มเติมให้โจทก์อาจทิ้งงานเป็นผลให้งานก่อสร้างของทางราชการต้องล่าช้าเสียหาย เงินเพิ่มชดเชยนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามสัญญาเดิม เงินที่เพิ่มให้ตามมติคณะรัฐมนตรีมีจำนวนที่คู่สัญญาตกลงกันแล้วว่า จะเพียงพอให้งานก่อสร้างตามสัญญาดำเนินไปจนเสร็จสิ้น ซึ่งได้กำหนดไว้เป็นจำนวนแน่นอน 257,920 บาทจึงผูกพันคู่สัญญา ฉะนั้น ความในสัญญาข้อ 4 ที่ว่า “เมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว ฯลฯ จึงมิใช่เงื่อนไข แต่เป็นวิธีการกำหนดการจ่ายเงินค่าจ้าง คือจำเลยจะจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์เมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณตามกฎหมายแล้ว และเมื่อโจทก์ผู้รับจ้างทำงานเสร็จและขอรับเงินชดเชยที่เหลือ จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ตามสัญญา

พิพากษายืน

Share