คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7916-7918/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยสั่งจ่ายเช็คจำนวน 6 ฉบับ ตามบันทึกต่อท้ายบันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้าง ซึ่งเงื่อนไขกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องทราบผลการตรวจสอบและประเมินปริมาณผลงานก่อสร้างอาคารของวิศวกรคนกลางก่อน หากจำเลยเป็นหนี้โจทก์มากกว่า 1,000,000 บาท ให้โจทก์นำเช็คทั้ง 6 ฉบับไปเรียกเก็บเงินได้ทันที ถ้าปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่ถึง 1,000,000 บาท ให้โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินได้เฉพาะเท่าที่จำเลยเป็นหนี้แล้วคืนเช็คที่เหลือ แต่ถ้าปรากฏว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยแล้ว โจทก์จะต้องส่งมอบเช็คทั้ง 6 ฉบับคืนจำเลย แสดงให้เห็นว่าการให้ทราบผลการตรวจสอบของวิศวกรคนกลางก่อนเป็นสาระสำคัญของเงื่อนไขดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้ทราบก่อนว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์แน่นอน โจทก์จึงจะมีสิทธินำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินได้ เท่ากับในขณะที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คทั้ง 6 ฉบับมอบแก่โจทก์ ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจำเลยจะเป็นหนี้โจทก์หรือไม่ เช็คดังกล่าวจึงเป็นเพียงการประกันหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หลังจากทราบผลการตรวจสอบและประเมินปริมาณผลงานก่อสร้างของวิศวกรคนกลางแล้ว จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทั้งสามสำนวนว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3

โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนมีข้อความทำนองเดียวกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีทั้งสามสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์เฉพาะอุทธรณ์ข้อกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าเช็ค 6 ฉบับ (รวมเช็คเอกสารหมาย จ.7, จ.10 และ จ.13) จำเลยที่ 1ได้ออกเพื่อชำระหนี้ของงานงวดเดือนธันวาคม 2538 และเดือนมกราคม 2539เมื่อผลการตรวจสอบและประเมินปริมาณผลงานก่อสร้างอาคารของวิศวกรคนกลางเสร็จภายหลังวันที่ 6 พฤษภาคม 2539 กรณีเข้าเงื่อนไขข้อ 2.1.3ของบันทึกต่อท้ายบันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้างฉบับที่ 1 เอกสารหมาย จ.3เงื่อนไขข้อนี้แตกต่างกับเงื่อนไขข้อ 2.1.2 ของเอกสารดังกล่าว เพราะเงื่อนไขข้อ 2.1.2 เป็นกรณีที่ทราบผลการตรวจสอบและประเมินปริมาณผลงานก่อสร้างอาคารของวิศวกรคนกลางก่อนวันที่ 6 พฤษภาคม 2539 และก่อนที่เช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายถึงกำหนดใช้เงินซึ่งจะทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หรือไม่เท่าไรแล้ว โจทก์ก็มีสิทธินำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บจากธนาคารเท่าที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ได้ แต่ถ้าปรากฏว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 โจทก์ก็ไม่มีสิทธินำเช็คไปเรียกเก็บเงินและต้องคืนเช็คให้แก่จำเลยที่ 1 ทันที ดังนั้นเมื่อผลการตรวจสอบและประเมินปริมาณผลงานก่อสร้างอาคารของวิศวกรกลางเสร็จภายหลังวันที่ 6 พฤษภาคม 2539 และเช็คที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายก็ถึงกำหนดใช้เงินแล้วจึงต้องแปลว่าโจทก์มีสิทธินำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินได้ทันที เพราะหากต้องรอให้ทราบผลการตรวจสอบและประเมินปริมาณผลงานของวิศวกรคนกลางก่อนจึงจะนำเช็คไปเรียกเก็บเงินได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขตามข้อ 2.1.3 อีก เนื่องจากมีกรณีข้อ 2.1.2 อยู่แล้ว เมื่อเช็คถึงกำหนดใช้เงินและเป็นการชำระงานงวดเดือนธันวาคม 2538 และเดือนมกราคม 2539จึงต้องถือว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระและบังคับกันได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามฟ้องแล้วนั้นเห็นว่า ตามเงื่อนไขข้อ 2.1.3 ของบันทึกต่อท้ายบันทึกข้อตกลงเลิกสัญญาจ้างฉบับที่ 1 เอกสารหมาย จ.3 กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า “หากการตรวจสอบและประเมินผลงานแล้วเสร็จภายหลังวันที่ 6 พฤษภาคม 2539 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะปฏิบัติต่อกันตามความในข้อ 2.1.2 เช่นกันต่อไป” หาได้กำหนดให้โจทก์มีสิทธินำเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินได้ทันทีตามที่โจทก์เข้าใจแต่อย่างใด แต่กำหนดให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อ 2.1.2เมื่อเงื่อนไขข้อ 2.1.2 กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องทราบผลการตรวจสอบและประเมินปริมาณผลงานก่อสร้างอาคารของวิศวกรคนกลางก่อน โดยเงื่อนไขข้อนี้ระบุแยกเป็นหลายกรณีตามผลของการตรวจสอบ คือ หากผลการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์มากกว่า 1,000,000 บาท ให้โจทก์นำเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้ทั้ง 6 ฉบับ (รวมเช็คเอกสารหมาย จ.7, จ.10และ จ.13) ไปเรียกเก็บเงินได้ทันที ถ้าปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่ถึง1,000,000 บาท ก็ให้โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินได้เฉพาะเท่าที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้แล้วคืนเช็คที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ถ้าผลการตรวจสอบดังกล่าวกลับปรากฏว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จะต้องส่งมอบเช็คทั้ง 6 ฉบับ คืนจำเลยที่ 1 ทันที หากโจทก์ไม่สามารถคืนเช็คแก่จำเลยที่ 1 ได้จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คต่อธนาคารและโจทก์หรือผู้ทรงเช็คโดยบุคคลดังกล่าวไม่มีสิทธินำเช็คดังกล่าวไปฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาได้ แสดงให้เห็นว่าการให้ทราบผลการตรวจสอบฯ ของวิศวกรคนกลางก่อนเป็นสาระสำคัญของเงื่อนไขทั้งข้อ 2.1.2 และข้อ 2.1.3 ทั้งนี้เพื่อให้ทราบก่อนว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์แน่นอนนั่นเอง โจทก์จึงจะมีสิทธินำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินได้เท่ากับในขณะที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คทั้ง 6 ฉบับ (รวมเช็คเอกสารหมาย จ.7, จ.10 และ จ.13) มอบแก่โจทก์ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นหนี้โจทก์หรือไม่ เช็คดังกล่าวจึงเป็นเพียงการประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หลังจากทราบผลการตรวจสอบและประเมินปริมาณผลงานก่อสร้างของวิศวกรคนกลางแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ โจทก์จึงจะมีสิทธินำไปเรียกเก็บเงินได้ตามเงื่อนไขข้อ 2.1.2 เช็คดังกล่าวจึงไม่ใช่เช็คที่ออกเพื่อชำระงานงวดเดือนธันวาคม 2538 และเดือนมกราคม 2539 เพราะโจทก์จำเลยที่ 1ได้ตกลงกำหนดเงื่อนไขในการที่โจทก์จะมีสิทธินำเช็คไปเรียกเก็บเงินดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น เมื่อโจทก์นำเช็คเอกสารหมาย จ.7, จ.10 และจ.13 ไปเรียกเก็บเงิน แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสามก็ไม่มีความผิดตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share