แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้คำฟ้องของโจทก์จะบรรยายฟ้องไว้ตอนหนึ่งว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ประสบภาวะการขาดทุน แต่จำเลยมีกำไรและมีทรัพย์สินนับพันล้านบาทสามารถหามาตรการหรือวิธีการอื่นแทนการเลิกจ้างได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่มีเหตุผลเพียงพอเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและรับผิดจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ อันเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 49 ด้วย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 124แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ก่อน และไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 8 วรรคท้าย
ย่อยาว
คดีทั้งแปดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งแปดฟ้องว่า โจทก์ทั้งแปดเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ทั้งแปดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ทำกับจำเลยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2539 ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2540ขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับจำเลยได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2541 อ้างว่าจำเลยจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างโดยลดพนักงานเนื่องจากคนล้นงานและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งไม่เป็นความจริงจำเลยมีกำไรและทรัพย์สินนับพันล้านบาท การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากจำเลยมิได้ขาดทุนและยังสามารถหามาตรการอื่นแทนการเลิกจ้างได้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดและลูกจ้างอื่นที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้นเป็นแผนที่จะล้มล้างสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และเลิกจ้างในขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลงวันที่ 15 มีนาคม 2539 ระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มีผลใช้บังคับ จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหายเป็นค่าจ้างนับจากวันที่ 1 มกราคม 2541 ถึงวันฟ้อง และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 1 เดือน ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งแปดเข้าทำงานตามเดิมให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งแปดนับถัดจากวันฟ้องไปจนถึงวันรับโจทก์ทั้งแปดกลับเข้าทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันสิ้นเดือนอันเป็นวันครบกำหนด จ่ายค่าจ้างแต่ละเดือนและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งแปดคนละ 1 เดือนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งแปด
จำเลยทั้งแปดสำนวนให้การว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งแปดเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121, 123 โจทก์ทั้งแปดต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณามีคำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 124 เมื่อโจทก์ทั้งแปดมิได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ทั้งแปดจึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย จำเลยมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปด จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดเพราะจำเลยมีเหตุจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานของจำเลยที่ซ้ำซ้อนและประสบการขาดทุน จำเลยมิได้เลิกจ้างเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ จำเลยมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยวางแผนตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อล้มล้างสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ การกระทำของจำเลยจึงมิได้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและมิใช่เป็นการเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินต่าง ๆ ตามกฎหมายให้แก่โจทก์ทั้งแปดครบถ้วนแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งแปดเป็นลูกจ้างของจำเลย วันเข้าทำงาน อัตราค่าจ้างตรงตามฟ้อง จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม 2540 ให้เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งแปดฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123แต่โจทก์ทั้งแปดมิได้มีการนำเรื่องนี้ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก่อนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ฝ่าฝืนตามมาตรา 124 ตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้ายเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งแปดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,028บาท ให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 6,727.50 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน4,780 บาท ให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 5,152.50 บาท ให้โจทก์ที่ 4จำนวน 9,817 บาท ให้โจทก์ที่ 5 จำนวน 5,995 บาท ให้โจทก์ที่ 6จำนวน 10,655 บาท ให้โจทก์ที่ 7 และจำนวน 6,690 บาทให้โจทก์ที่ 8 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 21เมษายน 2541 (วันฟ้อง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์แต่ละคนเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดว่า โจทก์ทั้งแปดมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 หรือไม่โดยโจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ว่าแม้คำฟ้องของโจทก์ทั้งแปดจะบรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า โจทก์ทั้งแปดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม 2540 ให้เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดมีผลนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 ในขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2539 ระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มีผลใช้บังคับ แต่โจทก์ทั้งแปดก็ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยไม่มีความผิดและไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ทั้งแปดต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือต้องปฏิบัติตามขั้นตอนก่อนที่จะฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน โจทก์ทั้งแปดฟ้องคดีนี้โดยมิได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย โจทก์ทั้งแปดจึงมีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า แม้คำฟ้องของโจทก์ทั้งแปดจะบรรยายฟ้องไว้ตอนหนึ่งว่าโจทก์ทั้งแปดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งได้เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องจนเป็นเหตุให้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างลงวันที่ 15 มีนาคม 2539 ระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 30ธันวาคม 2540 ให้เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดมีผลนับแต่วันที่ 1 มกราคม2541 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวยังมีผลบังคับ การเลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 แต่โจทก์ทั้งแปดก็ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยมิได้ประสบภาวะการขาดทุน แต่จำเลยมีกำไรและมีทรัพย์สินนับพันล้านบาท จำเลยสามารถหามาตรการหรือวิธีการอื่นแทนการเลิกจ้างได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยไม่มีความผิดและไม่มีเหตุผลเพียงพอเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งแปดกลับเข้าทำงานกับจำเลยตามเดิมและรับผิดจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งแปด อันเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ด้วย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ทั้งแปดต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนที่จะดำเนินการในศาลแรงงานในกรณีนี้ ดังนั้น โจทก์ทั้งแปดย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังกล่าวนี้ต่อศาลแรงงานกลางได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 124แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เสียก่อน กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้ายที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งแปดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและพิพากษายกคำขอในส่วนนี้เสียนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะข้อที่โจทก์ทั้งแปดกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยไม่เป็นธรรมต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง