แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่าการรังวัดทำแผนที่พิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมที่ดิน จึงไม่เป็นไปตามคำท้านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยไว้ครบถ้วนชัดแจ้งและโดยชอบแล้วว่าศาลชั้นต้นบันทึกสรุปใจความการสอบถามถ้อยคำของ ธ. ช่างรังวัดอ่านให้ทุกฝ่ายฟัง และ ธ. ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว กรณีจึงเชื่อได้ว่าศาลชั้นต้นจดบันทึกครบตามคำแถลงของ ธ. แล้ว และจากแผนที่พิพาทที่ ธ. ทำมาปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยนำชี้ว่าเป็นของจำเลยนั้นรุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณะ จึงเป็นไปตามคำท้า จำเลยจึงต้องแพ้คดีดังนั้น ปัญหาตามฎีกาของจำเลยจึงเป็นปัญหาอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางและทำทางสาธารณประโยชน์ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามเดิมโดยจำเลยทั้งสองออกค่าใช้จ่ายเองหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการสืบพยานโจทก์ คู่ความตกลงท้ากันให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท หากผลการรังวัดสอบเขตปรากฏว่าที่ดินจำเลยทั้งสองรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์ จำเลยทั้งสองขอยอมแพ้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเปิดทางและทำทางสาธารณประโยชน์ตามแนวกรอบเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทโดยให้จำเลยทั้งสองออกค่าใช้จ่ายเองคำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ปัญหาตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การรังวัดทำแผนที่พิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมที่ดินจึงไม่เป็นไปตามคำท้า นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยไว้ครบถ้วนชัดแจ้งและโดยชอบแล้วว่า ในการสอบถามถ้อยคำของนายธเนศ ไชยเศรษฐสุนทรช่างรังวัด ย่อมจะต้องมีการซักถามโต้ตอบกันหลายประโยคกว่าที่จะได้ข้อสรุปและบันทึกไว้ มิใช่ว่าถามประโยคหนึ่งแล้วจะตอบประโยคหนึ่งให้ได้ใจความตามที่บันทึก ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นบันทึกข้อความดังกล่าวไว้ก็เป็นการสรุปจากใจความที่ซักถามโต้ตอบกัน เมื่อศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาและอ่านให้ทุกฝ่ายฟังแล้ว นายธเนศก็ได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว กรณีจึงเชื่อได้ว่าศาลชั้นต้นได้จดบันทึกครบตามคำแถลงของนายธเนศแล้ว และจากแผนที่พิพาทที่นายธเนศทำมาปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยทั้งสองนำชี้ว่าเป็นของจำเลยทั้งสองนั้น รุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณะ จึงเป็นไปตามคำท้า จำเลยทั้งสองจึงต้องแพ้คดี ดังนั้น ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นปัญหาอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง”
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งสอง