คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7909/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ต้นเงินกู้ยืมที่จำเลยออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายให้แก่โจทก์กับดอกเบี้ยของต้นเงินกู้ยืมเป็นหนี้คนละส่วนแยกต่างหากจากกันได้แม้จำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยจะเกินจากอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยก็คงมีผลแต่เพียงว่าโจทก์สิ้นสิทธิในการได้รับดอกเบี้ยที่คิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่อาจคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยเท่านั้นแต่หาได้สิ้นสิทธิที่จะได้รับต้นเงินกู้ยืมไม่ และหากจำเลยชำระดอกเบี้ยไปแล้วก็หาอาจที่จะเรียกคืนหรือนำไปหักจากต้นเงินกู้ยืมได้ไม่ เมื่อเช็คพิพาทที่จำเลยออกมิได้รวมดอกเบี้ยที่มิชอบเข้าไว้ด้วยการออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้เพราะขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 จำคุก 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539เวลากลางวัน จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)สาขาบุรีรัมย์ ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2539 จำนวนเงิน 500,000บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งจำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2538 จำนวน500,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2ที่มีการปิดอากรแสตมป์ครบถ้วน เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระโจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่เรียกเก็บไม่ได้ เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากในขณะออกเช็คไม่มีเงินในบัญชีของจำเลยอันจะพึงให้ใช้เงินได้แล้ว วินิจฉัยว่าหนี้ต้นเงินกู้ยืมจำนวน 500,000 บาท ที่จำเลยออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายให้แก่โจทก์กับดอกเบี้ยของต้นเงินกู้ยืมดังกล่าวอีกจำนวน7,500 บาท ที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้นเป็นหนี้คนละส่วนแยกต่างหากจากกันได้ แม้จำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยจะเกินจากอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยก็คงมีผลแต่เพียงว่าโจทก์สิ้นสิทธิในการได้รับดอกเบี้ยที่คิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่อาจคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยเท่านั้น แต่หาได้สิ้นสิทธิที่จะได้รับต้นเงินกู้ยืมไม่ และหากจำเลยชำระดอกเบี้ยไปแล้วก็หาอาจที่จะเรียกคืนหรือนำไปหักจากต้นเงินกู้ยืมได้ไม่ เมื่อเช็คพิพาทที่จำเลยออกมิได้รวมดอกเบี้ยที่มิชอบดังที่จำเลยฎีกาเข้าไว้ด้วย การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อเช็คดังกล่าวไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้เพราะขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ดังนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยของหนี้ต้นเงินกู้ยืมดังกล่าวจะคิดเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยซึ่งผิดกฎหมายดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป

พิพากษายืน

Share