แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 260 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคำเบิกความของพยานโจทก์คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสี่กำลังนั่งล้อมวงอยู่ใต้ต้นมะพร้าวริมบ่อเลี้ยงปลาเท่านั้น และไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตรวจค้นได้จากกระเป๋าคาดเอวของจำเลยที่ 1 และที่บรรจุอยู่ในกระบอกพลาสติกสีขาวอย่างใดบ้าง ส่วนกระบอกพลาสติกสีขาวที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลาง หากไม่เปิดฝาออกจะไม่เห็นสิ่งของที่บรรจุอยู่ การที่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นญาติกันนั่งคุยกันที่ใต้ต้นมะพร้าวซึ่งเป็นที่ร่ม จึงไม่เป็นการผิดปกติวิสัยที่จำเลยที่ 1 ถือกระบอกพลาสติกสีขาวโดยเปิดเผยและที่จำเลยทั้งสี่นั่งล้อมวงคุยกันที่ใต้ต้นมะพร้าวหาใช่ข้อแสดงว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่
การที่จำเลยที่ 2 เห็นพยานโจทก์ทั้งสี่กับพวกแล้ววิ่งหนี ย่อมเป็นพิรุธ แต่ข้อพิรุธดังกล่าวไม่อาจสันนิษฐานเป็นผลร้ายว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด
คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบจึงไม่อาจรับฟังเป็นความจริง
เงินของกลางที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแต่เงินของกลางดังกล่าวมิใช่เป็นทรัพย์สินที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา 27 ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 ได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบเงินของกลางที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยมิได้อ้างพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ตามฎีกาของโจทก์ยืนยันว่า ศาลมีคำสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จึงมีว่า ศาลจะสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ได้หรือไม่
ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิด ได้ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้นและโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย
โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้เงินของกลางจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ก่อนจะถูกจับกุมคดีนี้ เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่อาจริบในคดีนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2539 เวลากลางวันจำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน260 เม็ด น้ำหนัก 23.08 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 5.408 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวและยึดได้เงินจำนวน 117,160 บาท ที่จำเลยทั้งสี่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 27 กับริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 15 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 10 ปีริบของกลาง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ แต่ก่อนส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 กับให้ยกฟ้องโจทก์ตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย คืนเงินจำนวน 117,160 บาท ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์คัดค้านได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 260 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงว่าตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวคงได้ความแต่เพียงว่า ขณะพยานโจทก์ทั้งสี่ไปถึงที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสี่กำลังนั่งล้อมวงอยู่ใต้ต้นมะพร้าวริมบ่อเลี้ยงปลาเท่านั้น ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตรวจค้นได้จากกระเป๋าคาดเอวของจำเลยที่ 1 และที่บรรจุอยู่ในกระบอกพลาสติกสีขาวแต่อย่างใด ส่วนกระบอกพลาสติกสีขาวที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสี่ว่า เมื่อเปิดฝาออกจึงพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง แสดงว่าหากไม่เปิดฝาออกจะไม่เห็นสิ่งของที่บรรจุอยู่ ด้วยเหตุดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงถือกระบอกพลาสติกดังกล่าวได้โดยเปิดเผย ไม่ต้องเกรงบุคคลอื่นรู้เห็นว่าภายในกระบอกพลาสติกสีขาวบรรจุเมทแอมเฟตามีนและที่จำเลยทั้งสี่นั่งล้อมวงอยู่ใต้ต้นมะพร้าวริมบ่อเลี้ยงปลาได้ความจากจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นญาติกัน การที่จำเลยทั้งสี่นั่งคุยกันที่ใต้ต้นมะพร้าวซึ่งตามภาพถ่ายหมาย จ. 3 ปรากฏว่าเป็นที่ร่ม จึงไม่เป็นการผิดปกติวิสัยแต่ประการใด ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ถือกระบอกพลาสติกสีขาวโดยเปิดเผยก็ดี การที่จำเลยทั้งสี่นั่งล้อมวงคุยกันที่ใต้ต้นมะพร้าวก็ดี หาใช่ข้อแสดงว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ จริงอยู่การที่จำเลยที่ 2 เห็นพยานโจทก์ทั้งสี่กับพวกแล้ววิ่งหนีเป็นพิรุธ แต่ข้อพิรุธดังกล่าวไม่อาจสันนิษฐานเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนว่า เงินสดและเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตรวจค้นพบในกระเป๋าคาดเอวของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาฝากไว้ก็ดี และจำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ติดต่อรับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ไปจำหน่ายก็ดี กับที่จำเลยที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวนว่า ในวันเกิดเหตุก่อนถูกจับกุม จำเลยที่ 3 ไปถามจำเลยที่ 1 ว่ามีเมทแอมเฟตามีนให้จำหน่ายหรือไม่ จำเลยที่ 1 เปิดฝากระป๋องทรงกลมสีขาวให้ดู เห็นมีเมทแอมเฟตามีนอยู่เกือบเต็ม จำเลยที่ 1 จึงบอกแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่าจะแบ่งให้ไปจำหน่ายหากจำหน่ายได้จะให้เม็ดละ 10 บาท ก็ดี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวล้วนเป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ จึงไม่อาจรับฟังเป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ได้เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบไม่มั่นคงพอฟังว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จะริบเงินของกลาง117,160 บาท ได้หรือไม่ โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า เงินของกลางดังกล่าวจำเลยทั้งสี่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดกับอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 27 มาในท้ายฟ้อง แต่ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าเงินของกลางดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 อาศัยมาตรา 22 มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เท่านั้น และเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้ยึดเงินดังกล่าว ดังนี้ แม้เงินดังกล่าวจะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่โจทก์อ้างไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะขอให้ศาลมีคำสั่งริบเงินของกลางตามมาตรา 27 ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบเงินของกลางก็มิได้อ้างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามฎีกาของโจทก์ยืนยันว่า ศาลมีคำสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จึงมีว่า ศาลจะสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ได้หรือไม่ เห็นว่า ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดได้ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้น และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้เงินของกลางจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ก่อนจะถูกจับกุมคดีนี้ เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่อาจริบได้
พิพากษายืน