แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน ๑๐๗,๕๐๐ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยเป็นผู้ร่วมเล่นแชร์ที่มีนางจิตติมา คงกรุต เป็นนายวงแชร์และจัดให้มีการเล่นแชร์มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงจำเลยเป็นผู้ประมูลแชร์ได้ จึงสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้ไว้แก่นายวงแชร์มูลหนี้ตามเช็คจึงฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ โจทก์ชอบที่จะฟ้องไล่เบี้ยจากนายวงแชร์เท่านั้น ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๐ มีนาคม๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่๙ มีนาคม ๒๕๔๑) ต้องไม่เกิน ๗,๕๐๐ บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่า โจทก์และจำเลยร่วมเล่นแชร์วงเดียวกันมีนางจิตติมา คงกรุต เป็นนายวงแชร์ มีสมาชิกทั้งหมด ๑๒ คน สมาชิกแต่ละคนจะต้องส่งเงินค่าแชร์คนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อคนต่องวด จึงมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง คือ ๓๐๐,๐๐๐ บาท เช็คพิพาทในคดีนี้จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบให้แก่นายวงแชร์เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ภายหลังจากจำเลยประมูลแชร์ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลง ต่อมาโจทก์ได้นำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางกะปิ ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินปรากฏตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๓ตามลำดับ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การตั้งวงแชร์ที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ (๓)การเล่นแชร์ย่อมตกเป็นโมฆะทั้งหมด สมาชิกวงแชร์จะฟ้องเรียกเงินตามเช็คที่ออกให้เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ในระหว่างกันเองได้หรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ ประการ เช่น ตามมาตรา ๖ (๓) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งกฎกระทรวง(พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. ๒๕๓๔ กำหนดวงเงินไว้ ๓๐๐,๐๐๐ บาท และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา ๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๓ สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เองมาตรา ๗ จึงได้บัญญัติว่า บทบัญญัติในมาตรา ๖ ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นการยืนยันให้เห็นสิทธิของผู้เป็นสมาชิกวงแชร์ แต่ที่มาตรา ๗ มิได้บัญญัติถึงการฟ้องระหว่างสมาชิกวงแชร์ด้วยกันเองไว้ ดังได้วินิจฉัยมาแล้วว่า การตั้งวงแชร์ฝ่าฝืนต่อมาตรา ๖ผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนและถูกตัดสิทธิคงมีแต่เฉพาะนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติให้สมาชิกวงแชร์มีสิทธิฟ้องกันเองไว้อีกที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการเล่นแชร์ตกเป็นโมฆะทั้งหมด จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.