คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3437/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า ห. และ จ. ร่วมกันทำมาหากินประกอบธุรกิจนากุ้งและทำประมง และกิจการอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาสิบปี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นที่ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเชื่อได้ว่า ห. และ จ. อยู่กินฉันสามีภริยามาเป็นเวลาสิบปี ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันหรือเป็นเจ้าของร่วม รวมทั้งหนี้สินที่เกิดจากกิจการที่ทำมาหากินร่วมกันย่อมถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกัน เมื่อ ห. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปซื้อลูกกุ้งและอาหารกุ้ง ซึ่งเป็นกิจการที่ ห. ทำร่วมกับ จ. และ จ. ร่วมรับรู้โดย ห.เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งแล้ว จ. เป็นผู้มารับเงิน หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมที่ จ. ต้องร่วมกับ ห. ชำระหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ จ. ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาท 2 แปลง ตีใช้หนี้ของ ห. และ จ. ให้แก่จำเลย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยและ ส. หลอกลวง แต่การที่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงถือว่าจำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่น เป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่ามีการคิดราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ คือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเหตุสุดวิสัย ให้จำเลยชำระค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 5,125,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังว่า โจทก์เป็นบุตรนางจิตราและนายกายทอง ซึ่งทั้งสองคนได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว ต่อมานางจิตราได้อยู่กินฉันสามีภรรยากับนายหั้ว จำเลยเป็นน้องสาวนายหั้ว เมื่อปี 2547 นางจิตราและนายหั้วถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางจิตรา โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 3371 และ 3372 ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางจิตราให้แก่โจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า นิติกรรมขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3371 และ 3372 ตกเป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ไปตรวจสอบพบว่านางเสาวนิตย์ ยกตู้เซฟที่เก็บเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินทั้ง 10 ไปไว้ที่บ้านของนางซ้อน นางเสาวนิตย์แจ้งว่าหากเปิดตู้เซฟเมื่อใดจะแจ้งให้โจทก์ทราบ ต่อมาโจทก์ทราบว่านางเสาวนิตย์เปิดตู้เซฟโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบและนำเครื่องประดับมาให้โจทก์และแจ้งว่าโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) จะนำไปชำระหนี้ของนายหั้วกับนางจิตรา ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2548 นางเสาวนิตย์ติดต่อโจทก์ให้ไปโอนที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเวียงสระเพื่อชำระหนี้ของนายหั้วและนางจิตราที่มีอยู่ต่อจำเลย โจทก์เชื่อตามนางเสาวนิตย์ที่แจ้งว่าจะออกค่าซ่อมรถยนต์และช่วยผ่อนชำระค่าบ้านที่โจทก์ค้างอยู่ต่อธนาคารจำนวนประมาณ 200,000 บาท และจะคืนเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินจำนวน 8 ฉบับ ที่เหลือแก่โจทก์ในวันดังกล่าวโจทก์ ภริยาโจทก์ นางเสาวนิตย์และสามีไปที่สำนักงานที่ดินพบจำเลยก่อนที่จะมีการโอน โจทก์ไม่ทราบว่าที่ดินอยู่ที่ใดและมีลักษณะเป็นอย่างไรและจำเลยแจ้งว่าไม่ทราบที่ตั้งของที่ดินจำนวน 2 แปลง ดังกล่าว โจทก์โอนที่ดินทั้งสองแปลงมาให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนจากโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกมายังโจทก์ในฐานะทายาท จากนั้นได้โอนจากโจทก์ให้แก่จำเลยโดยโอนตีใช้หนี้ในราคา 1,200,000 บาท แต่ทำเป็นสัญญาขายที่ดินเพราะเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าจะระบุว่าเป็นการตีใช้หนี้ไม่ได้ โจทก์ทราบว่าหนี้มีอยู่จำนวน 1,000,000 บาท ส่วนที่เกินจำนวน 200,000 บาท เป็นเงินค่าบ้านที่จำเลยช่วยออก ในขณะที่มีการโอนไม่มีการตกลงกันตามราคาท้องตลาดของที่ดินทั้งสองแปลงเพราะโจทก์ไม่ทราบว่าที่ดินอยู่ที่ใดและราคาเท่าไร ภายหลังการโอนประมาณ 2 ถึง 3 วัน มีบุคคลที่สนใจที่ดินทั้งสองแปลงโทรศัพท์มาหาโจทก์ขอซื้อที่ดินทั้งสองแปลงในราคา 4,000,000 บาท ต่อมาน้องสาวโจทก์ได้พบสำเนาสัญญากู้มีการระบุว่า ได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3371 และ 3372 ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มามอบให้ผู้ให้กู้เป็นประกัน หากโจทก์ทราบว่าที่ดินมีราคา 4,000,000 บาท โจทก์คงไม่ยอมโอนตีใช้หนี้ ต่อมาโจทก์เห็นเอกสารหมายก่อนฟ้องคดีนี้ประมาณ 2 ถึง 3 เดือน จึงทราบว่าส่วนหนี้ที่อ้างว่าเป็นหนี้ต่อมารดาโจทก์นั้นแท้จริงแล้วเป็นหนี้สินของนายหั้ว โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกล้างนิติกรรม ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเป็นน้องสาวนายหั้ว เมื่อนายหั้วและนางจิตราอยู่กินฉันสามีภรรยาได้ร่วมกันทำนากุ้ง ต่อมามีปัญหาด้านการเงินนายหั้วและนางจิตรามากู้เงินจากจำเลยในปี 2546 จำนวน 2 ครั้ง จำนวนครั้งละ 1,000,000 บาท ในการกู้เงินนายหั้วจะลงลายมือชื่อในสมุดของจำเลยโดยในการกู้เงินนายหั้วจะโทรศัพท์มาแจ้งจำเลยล่วงหน้าและจะให้นางจิตรามารับเงิน ภายหลังจากนายหั้วและนางจิตราถึงแก่ความตาย นางเสาวนิตย์มาสอบถามจำเลยทราบว่านายหั้วเป็นหนี้ต่อจำเลยอยู่จำนวน 2,000,000 บาท ต่อมาจำเลยได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ให้ไปรับโอนที่ดินตีใช้หนี้ของนายหั้วในวันรุ่งขึ้น จำเลยจึงไปรับโอนที่ดินโดยจำเลยไม่ทราบว่าที่ดินที่โอนตีใช้นี้มีราคาเท่าไรและตั้งอยู่ที่ใด เห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าส่วนหนี้สินที่อ้างว่าเป็นหนี้ของมารดาโจทก์นั้นแท้จริงแล้วเป็นหนี้สินของนายหั้วนั้น แม้ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยจะไม่ปรากฏว่านางจิตราและนายหั้วจะอยู่กินฉันสามีภรรยากันตั้งแต่เมื่อใด แต่ตามคำฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 265/2548 ศาลจังหวัดปัตตานี โจทก์ในคดีนี้ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องดังกล่าวมีใจความรับว่า นายหั้วและนางจิตราทั้งคู่ร่วมกันทำมาหากินประกอบธุรกิจนากุ้งและทำประมงและกิจการอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาสิบปี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นที่ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเชื่อได้ว่านายหั้วและนางจิตราได้อยู่กินฉันสามีภรรยามาเป็นเวลาสิบปี ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ในระหว่างนี้จึงเป็นทรัพย์ที่นายหั้วและนางจิตราต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันหรือเป็นเจ้าของร่วม รวมทั้งหนี้สินที่เกิดจากกิจการที่ทำมาหากินร่วมกันย่อมถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกัน ซึ่งในส่วนหนี้สินนั้นนางเสาวนิตย์และนางเสาวณีย์ พี่นางสาวนิตย์ พยานโจทก์ทั้งสองปากต่างเบิกความสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ว่า นายหั้วกู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปซื้อลูกกุ้งและอาหารกุ้งซึ่งเป็นกิจการที่นายหั้วทำร่วมกับนางจิตรา และนางจิตราก็ร่วมรับรู้โดยนายหั้วเป็นผู้โทรศัพท์มาแจ้งล่วงหน้าแล้วนางจิตราเป็นผู้มารับเงิน จึงถือได้ว่าเป็นหนี้ที่เกิดจากกิจการที่ทำมาหากินร่วมกัน หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมของนายหั้วและนางจิตรา นางจิตรามีหน้าที่ร่วมกันกับนายหั้วชำระหนี้ด้วย การที่โจทก์ทำนิติกรรมการขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยโดยเป็นการตีใช้หนี้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยกับนางเสาวนิตย์สมคบกันหลอกลวงให้โจทก์นำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงของนางจิตรามาทำนิติกรรมขายให้แก่จำเลย แต่การที่จำเลยตกลงรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตีใช้หนี้จากโจทก์ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่ามีการคิดราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ คือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ข้อตกลงจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3371 และ 3372 ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2548 ระหว่างโจทก์กับจำเลย หากโจทก์ไม่สามารถกลับมามีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามเดิมได้ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันที่ 13 ตุลาคม 2551 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share