คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยหลอกลวงประชาชนโดย วิธีประกาศโฆษณา ณ ที่หน้าที่ทำการของจำเลยและโดย ทางหนังสือพิมพ์หลายครั้ง มีผู้เสียหายหลายคน มาสมัคร ไปทำงานในต่างประเทศกับจำเลยตาม ที่จำเลยหลอกลวงคนละวันคนละ เวลากัน และจ่ายเงินให้แก่จำเลยไปคนละวันคนละเวลากันการ กระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชนหลายกรรมต่างกัน หาใช่จำเลยมีเจตนามุ่งกระทำต่อ ประชาชนเพียงครั้งเดียว และเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,341, 343 และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายแต่ละคนรวม 537,000 บาท ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83 ให้วางโทษปรับจำเลยที่ 1จำนวน 9,000 บาท และวางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปีพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองได้คืนเงินให้แก่พวกผู้เสียหายบางส่วนถือได้ว่าเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 6,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปีเกี่ยวกับคำขอท้ายฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินแก่ผู้เสียหายแต่ละคนรวมเป็นเงิน 537,000 บาท นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงในทางพิจารณาว่า นายเตียง คำศรีระภาพ นายวิชัย หัตถกิจนายวินัย หัตถกิจ นายเสาร์ ผ่อนตาม และนายวีระศิลป์ แซ่เอ็งได้รับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองครบถ้วนแล้ว จึงไม่สั่งคืนให้ ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ รัตนมงคล นายกด อนุยาง และนายกอง ราษี ได้รับเงินคืนเป็นบางส่วน คงเหลืออีกจำนวนคนละ 12,000 บาท นายปรีชา สุวรไตรได้รับคืนเป็นบางส่วน คงเหลืออีกจำนวน 22,000 บาท นายสีฟองเวินเมาหา ได้รับคืนเป็นบางส่วน คงเหลืออีกจำนวน 5,000 บาทนายชัชวาลย์ ตั้งรักษ์วัฒนกุล ได้รับคืนเป็นบางส่วนคงเหลืออีกจำนวน27,000 บาท นายศักดิ์ศรี เพ็งกล้า ยังไม่ได้รับคืนจำนวน37,000 บาท นายแสง ผ่อนตาม และนายสมพร เชื้อสุวรรณ ยังไม่ได้รับคืนจำนวนคนละ 35,000 บาท ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงให้จำเลยทั้งสองคืนเงินให้แก่พวกผู้เสียหายดังกล่าวตามที่ระบุไว้ สำหรับนายบริลำ ตันมาดี และนายวาดอินทะยศ ปรากฏข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับการคืนเงินไม่แจ้งชัดเพราะนอกจากนายบริลำจะได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไปแล้วยังปรากฏว่านายบริลำได้กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสองโดยมีการทำสัญญากู้ยืมไว้ด้วย และนายวาดได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้เป็นหลักฐานในเอกสารหมาย ป.ล.1 และ ป.ล.2 ของศาลจังหวัดลำปางว่าได้รับเงินจากจำเลยทั้งสองแล้วจำนวน 31,100 บาท แต่นายวาดกล่าวอ้างว่าได้รับคืนเพียง 12,000 บาท เท่านั้น คำขอในส่วนนี้จึงให้ยกเสีย โดยให้ผู้เสียหายทั้งสองคนดังกล่าวไปว่ากล่าวจำเลยทั้งสองในทางแพ่ง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก มาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองฎีกาของโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่าการกระทำผิดของจำเลยที่ 1เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกระทงความผิดตามฟ้องรวม 9 กระทง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำการหลอกลวงประชาชนโดยวิธีประกาศโฆษณา ณที่หน้าที่ทำการของจำเลยที่ 1 และโดยทางหนังสือพิมพ์หลายครั้งทั้งมีผู้เสียหายหลายคนมาสมัครไปทำงานในต่างประเทศกับจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงคนละวันคนละเวลากัน และจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปคนละวันคนละเวลากัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่จำเลยที่ 1 มีเจตนามุ่งกระทำต่อประชาชนเพียงครั้งเดียว และเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ดังนั้นจึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก, 83 ประกอบมาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 91 ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 9,000 บาท รวม9 กระทงเป็นเงิน 81,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้คืนเงินให้แก่ผู้เสียหายบางส่วน ถือได้ว่าเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดแล้วมีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 54,000 บาทหากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 วรรคแรกนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share