แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง คดีความผิดต่อส่วนตัวในชั้นฎีกาตาม คำร้องขอถอนฟ้องระบุว่าจำเลยทั้งสองได้ นำเงิน 40,000 บาท มาชำระให้แก่โจทก์พร้อมใบคู่มือจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ โดย สัญญาว่าจะทำการโอนทะเบียนกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์แก่โจทก์ภายใน 10 วัน หากไม่สามารถโอนได้ จะยอมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ 20,000 บาท โจทก์จึงไม่ประสงค์จะดำเนิน คดีกับจำเลยต่อไป จึงขอถอนฟ้อง และท้ายคำร้องจำเลยก็ได้ ร่วมลง ลายมือชื่อด้วยดังนี้ ตาม คำร้องขอถอนฟ้องดังกล่าวเป็นการยอมความกันโดย ถูกต้องตาม กฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตั้งแต่ มีการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2) โจทก์จึงไม่อาจมายื่นคำร้องขอถอน คำร้อง ขอถอนฟ้องในภายหลังอีกได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับกรรมละ 15,000 บาท รวมสองกรรม ปรับเป็นเงิน 30,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุกกรรมละ 1 เดือน รวมห้ากรรม จำคุกมีกำหนด5 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอถอนฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ลงวันที่27 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ระบุว่า จำเลยทั้งสองได้นำเงินสดจำนวน40,000 บาท มาชำระให้แก่โจทก์พร้อมด้วยใบคู่มือการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ให้แก่โจทก์ และจำเลยทั้งสองสัญญาว่าจะทำการโอนทะเบียนกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน10 วัน หากไม่สามารถโอนได้จะยอมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ จำนวน20,000 บาท โจทก์จึงไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป จึงขอถอนฟ้อง และท้ายคำร้องดังกล่าวจำเลยก็ได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วยเห็นว่า ตามคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ข้างต้น เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตั้งแต่มีการยอมความกันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) จึงให้ยกคำร้องขอถอนคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์และให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ”.