แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ภารจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิประเภทที่จำกัดตัดทอนกรรมสิทธิ์ผูกพันอยู่กับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเป็นสามยทรัพย์ ไม่ใช่ทรัพยสิทธิส่วนตัวบุคคล แม้เจ้าของภารยทรัพย์จะเปลี่ยนตัวไปก็หาเป็นข้อสำคัญไม่ส่วนมาตรา 1299 ที่บัญญัติว่า “สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว” นั้น หมายความถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพยสิทธิอันเดียวกันกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาเป็นการได้สิทธิประเภทกรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์แล้วสร้างกำแพงปิดล้อมที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทางภารจำยอมที่โจทก์ใช้รถยนต์แล่นเข้าออกที่ดินของโจทก์ กรณีจึงมิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพยสิทธิอันเดียวกัน จำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทต้องสิ้นไปหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 9774 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 9777, 9778 และ 9779 และโจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 9775 โจทก์ทั้งสามและเจ้าของที่ดินอื่นในซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์ได้ใช้ประโยชน์สัญจรไปมาในซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์ตามที่ดินโฉนดที่ 9772 และ 9050 ปรากฏตามแผนผังบริเวณที่ดินพิพาทท้ายฟ้องที่มีพื้นสีแดงและสีเขียวมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทางภารจำยอม ต่อมาจำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดที่ 9050 ซึ่งอยู่ติดกันกับที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่8789 แล้วรวมเป็นโฉนดเดียวเป็นโฉนดที่ 8789 เมื่อประมาณวันที่4 สิงหาคม 2526 จำเลยขุดหลุมหล่อเสาคอนกรีตรุกล้ำลงบนซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์เพื่อล้อมเอาที่ดินตามโฉนดที่ 9050 ทางด้านทิศใต้ยาวประมาณ 1 เมตรทิศตะวันออกยาวประมาณ 48.20 เมตร และด้านทิศเหนือยาวประมาณ 1.25 เมตร ทำให้ทางภารจำยอมแคบลงไป เหลือความกว้างเพียง 3 เมตร เป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารขนาดใหญ่รถยนต์สิบล้อของโจทก์ทั้งสามไม่สามารถเข้าออกโดยสะดวก เป็นการทำให้เสื่อมสภาพต่อการใช้และลดความสะดวกในการใช้ทางภารจำยอมจึงขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่สร้างขึ้นล้อมรอบโฉนดที่ 8789 ฉบับใหม่เฉพาะด้านใต้ยาวประมาณ 1 เมตร ด้านทิศตะวันออกยาวประมาณ 48.20 เมตร และด้านทิศเหนือยาวประมาณ 1.25 เมตรให้ออกไปจากบริเวณโฉนดที่ดินดังกล่าว ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินโฉนดที่ 8789 ในลักษณะขัดขวางการใช้ทรัพย์สิทธิภารจำยอมของโจทก์ จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การทั้งสามสำนวนว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ 8789 และ 9050 ซึ่งต่อมาได้รวมเป็นโฉนดเดียวเลขที่ 8789 จำเลยซื้อมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนการได้มาโดยสุจริต ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299, 1300 ไม่มีการจดแจ้งไว้ในโฉนดว่ามีภารจำยอม แม้จะเคยใช้ทางพิพาทมาก็ยังใช้มาไม่ถึง10 ปี เมื่อจำเลยก่อกำแพงขึ้น ทางเดินนอกกำแพงก็ยังมีความกว้างถึง 3 เมตรเศษ พอที่รถยนต์โดยสารและรถยนต์บรรทุกของโจทก์เข้าออกได้โดยสะดวก ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่สร้างขึ้นบนที่ดินพิพาทโฉนดที่ 8789 (เฉพาะส่วนโฉนดเดิมที่ 9050) ตำบลสบตุ๋ย (เชียงราย) อำเภอเมืองลำปางจังหวัดลำปาง ส่วนที่มีพื้นสีแดงตามแผนผังเอกสารหมาย จ.2 โดยให้รื้อตามแนวด้านทิศตะวันออกของเสาไฟฟ้าต้นที่ 1, 2, 3 และ 4ของรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.13 ออกไปและทำที่ดินให้อยู่ในสภาพดีเหมือนเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการจ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินโฉนดดังกล่าวในลักษณะขัดขวางการใช้ทรัพยสิทธิภารจำยอมของโจทก์ทั้งสามตลอดไป จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้รื้อส่วนที่รุกล้ำที่ดินพิพาทเฉพาะภายในวงเส้นสีแดงตามแผนที่เอกสารหมาย จ.13 และให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อที่ว่าหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์จ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโจทก์และจำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าที่ดินโฉนดที่ 1121 เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 25 ตารางวา เป็นรูปยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ ยาวประมาณ 200 เมตร ทิศเหนือจดลำเหมืองสาธารณะ ทิศใต้จดถนนฉัตรไชยหรือ 9 มิถุนา หรือสายที่ 3นายพินิต พงษ์วรุตม์ ซื้อมาเมื่อ พ.ศ. 2485 ต่อมานายพินิตจัดสรรแบ่งขายเป็นแปลงเล็ก ๆ ราว 10 แปลง โดยแบ่งเป็นแปลงทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เว้นที่ดินไว้ตรงกลางเป็นรูปยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ในลักษณะที่จะให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้ใช้เป็นทางออกมาสู่ถนนฉัตรไชยเป็นที่ดินโฉนดที่ 9772 ชื่อว่าซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์ซึ่งเป็นซอยตัน พ.ศ. 2502 นายพินิตได้แบ่งที่ดินตามโฉนดดังกล่าวด้านปากซอยคือด้านที่ติดกับถนนฉัตรไชยทางซีกตะวันตกออกอีก 1 โฉนด เป็นโฉนดที่ 9050 เนื้อที่ 20 ตารางวาจำเลยซื้อที่ดินแปลงนี้กับที่ดินโฉนดที่ 8789 ซึ่งอยู่ติดกันทางทิศตะวันตกจากนายชุมพล คูร์พิพัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2526 และได้รวมที่ดิน 2 โฉนดดังกล่าวเป็นโฉนดเดียวกัน คือโฉนดที่ 8789 ส่วนที่ดินตามโฉนดที่ 9772 ที่เหลือ นายพินิตขายให้แก่นายสิทธิพงศ์เจียมศิริอังกูร จำเลยซื้อที่ดินแล้วได้สร้างกำแพงคอนกรีตล้อมที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสาม นายกลิ้ง ใจคำ บิดานางสาววัชรี ใจคำ และนายบุญมี ซ้อนสูง ต่างก็ซื้อที่ดินที่นายพินิตจัดสรรแบ่งขาย ที่ดินของโจทก์ที่ 1 โฉนดที่ 9774 ของโจทก์ที่ 2 โฉนดที่ 9777, 9778 และ 9779 ของโจทก์ที่ 3 โฉนดที่ 9775ของนายกลิ้งโฉนดที่ 9781 และของนายบุญมีเป็นเลขโฉนดเดิมคือ 1121 ที่ดินภารจำยอมในช่วงแนวที่ดินโฉนดที่ 9050 คือที่ดินตามโฉนดที่ 9772 พื้นสีเขียว ตามเอกสารหมาย จ.2 ที่ดินตามโฉนดดังกล่าวตรงปากซอยหรือที่มาบรรจบกับถนนฉัตรไชยเดิมกว้าง 1.24เมตร + 2.96 เมตร = 4.20 เมตร แต่เมื่อได้แบ่งแยกที่ดินตามโฉนดดังกล่าวออกเป็นที่ดินตามโฉนดที่ 9050 คงเหลือความกว้าง 2.96 เมตรส่วนอีก 1.24 เมตร เป็นความกว้างของที่ดินโฉนดที่ 9050 และที่ดินตามโฉนดที่ 9050 นี้มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางด้านที่ติดถนนฉัตรไชยหรือทิศใต้กับทางทิศเหนือซึ่งอยู่ในแนวเดียวกันกับเขตที่ดินโฉนดที่ 8789 ฉบับเดิมกว้างเท่ากันคือ 1.24 เมตร ส่วนด้านยาวทางทิศตะวันออกที่ติดกับที่ดินโฉนดที่ 9772 ยาว 50 เมตร และทิศตะวันตกที่ติดกับที่ดินโฉนดที่ 8789 ฉบับเดิม ยาว 47.90 เมตรทางภารจำยอมช่วงที่แคบที่สุดจากแนวกำแพงที่จำเลยก่อสร้างไปถึงแนวเขตที่ดินของนายบุญมีกว้าง 2.15 เมตร ที่ดินพิพาทคือที่ดินตามโฉนดที่ 9050 ตามเอกสารหมาย จ.2 พื้นสีแดง หรือภายในเส้นสีแดงตามเอกสารหมาย จ.13 ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ฟ้องอ้างภารจำยอมมีไปถึงที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ 8789 ฉบับเดิม ตามเอกสารหมาย จ.2 พื้นสีน้ำตาล หรือตามแนวเสาไฟฟ้าต้นที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ตามเอกสารหมาย จ.13 หรือไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์อ้างว่าทางภารจำยอมมีแต่เฉพาะในที่ดินโฉนดที่ 9050 และ 9772 เท่านั้นและโจทก์ได้กล่าวถึงที่จำเลยซื้อที่ดินโฉนดที่ 8789 ฉบับเดิม แต่โจทก์ก็ไม่ได้อ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมด้วยและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็คงขอให้จำเลยรื้อถอนและห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดที่ 9050 เท่านั้นแม้ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2526 ก็จับใจความได้แต่เพียงว่า เมื่อจำเลยซื้อที่ดินโฉนดที่ 9050 และ 8789 แล้ว จำเลยได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินนำที่ดิน 2 แปลงนี้มารวมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมีหมายเลขโฉนดที่ 8789 จึงขอให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่สร้างขึ้นล้อมรอบโฉนดที่ 8789 ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจว่า ที่โจทก์อ้างโฉนดที่ 9050 นั้นไม่ถูก ที่ถูกเป็นโฉนดที่ 8789 ฉบับใหม่เท่านั้น ไม่อาจตีความเลยไปถึงว่าคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องว่าทางภารจำยอมคลุมไปถึงที่ดินโฉนดที่ 8789ฉบับเดิมด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การนำสืบของโจทก์ที่ว่าทางภารจำยอมมีไปถึงเสาไฟฟ้าต้นที่ 2 เป็นการนำสืบนอกฟ้องจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นและเมื่อฟังว่าโจทก์มิได้ฟ้องกล่าวอ้างว่าที่ดินตามโฉนดที่ 8789ฉบับเดิมตกอยู่ในภารจำยอมด้วยแล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าที่ดินบางส่วนตามโฉนดดังกล่าวเป็นภารจำยอมหรือไม่จึงไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัย ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 พื้นสีแดง หรือภายในเส้นสีแดงตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นทางภารจำยอมหรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีนายเบ็ญจรงค์ องอาจอิทธิชัย ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และเป็นลูกจ้างของบริษัทไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ นายมนต์ชัย เจียมศิริอังกูร บุตรโจทก์ที่ 2 และผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 2 นายซอยตี๋ แซ่เล้า ผู้เช่าที่ดินของโจทก์ที่ 3 และเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 นายสุทธิพงศ์นางสาววัชรี และนายบุญมีเบิกความต้องกันในสาระสำคัญว่าผู้ที่ซื้อที่ดินที่นายพินิจจัดสรรแบ่งขายและประชาชนทั่วไปต่างใช้ทางพิพาทสัญจรมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว โดยเฉพาะที่ดินของโจทก์ที่ 1 นอกจากจะใช้เป็นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัยแล้วยังใช้เป็นที่จอดรถยนต์โดยสารหรือรถเมล์เขียว และเป็นอู่ของบริษัทไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด อีกด้วย ที่ดินของโจทก์ที่ 2 ใช้เป็นที่ตั้งโรงงานปั้นนุ่นชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดตงเฮงอุตสาหกรรมและเจ้าของโรงงานใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อและหกล้อ บรรทุกนุ่นเข้าโรงงานและขนที่นอนออกจากโรงงาน ส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 3 เจ้าของคนก่อนนำไปจำนองไว้กับธนาคารไทยทนุ จำกัด ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 ขอเช่าใช้สร้างเป็นที่เก็บของเก่ามาประมาณ 10 ปี ครั้นพ.ศ. 2511 โจทก์ที่ 3 ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 ก็ขอเช่าจากโจทก์ที่ 3 ติดต่อตลอดมาจนบัดนี้ซึ่งในการที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 นำสินค้าของเก่าเข้าไปเก็บนั้นได้ใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อ บรรทุกเข้าไป และปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. 2518และ พ.ศ. 2520 เกิดเพลิงไหม้โรงงานของโจทก์ที่ 2 มีรถยนต์ดับเพลิงของเทศบาลเข้าไปช่วยดับเพลิง สำหรับผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 แม้จะได้ความว่าไม่ได้รู้เห็นเองในเรื่องการใช้ทางพิพาทแต่ก็เบิกความว่า บ้านของโจทก์ที่ 1 และชาวบ้านที่ปลูกอยู่ในซอยดังกล่าวมีสภาพเก่ากะประมาณ 20-30 ปีแล้ว กับเบิกความว่า รถยนต์โดยสารของบริษัทไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด เป็นรถยนต์สิบล้อ มีความกว้าง2.50 เมตร ตามสำเนาประวัติรถยนต์เอกสารหมาย จ.12 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 2 ก็เบิกความว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อ ที่โรงงานปั่นนุ่นของโจทก์ที่ 2 ใช้บรรทุกนุ่นและขนที่นอนเข้าออกโรงงาน มีความกว้างประมาณ 2.50 เมตร และว่ารถยนต์ดับเพลิงก็มีความกว้างกว่า 2.50เมตร ฝ่ายจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างในเรื่องที่ฝ่ายโจทก์ใช้ซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์มาประมาณ 30 ปีแล้ว คงมีแต่จำเลยที่เบิกความว่าตอนซื้อนายชุมพลไปชี้เขตที่ดิน ที่ดินไม่มีสภาพเป็นถนน ซึ่งเป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนในเรื่องที่ฝ่ายโจทก์ใช้รถยนต์โดยสาร และรถยนต์บรรทุกสิบล้อแล่นเข้าออกซอยนั้น พยานจำเลยกลับเบิกความเจือสมพยานโจทก์โดยจำเลยเบิกความว่า มีรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ของโรงปั่นนุ่นตงเฮงแล่นเข้าออกทุกวัน และนายชุมพลเบิกความว่า ในซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์มีรถเมล์แล่นเข้าออกและมีบ้านของเจ้าของรถเมล์อยู่ในซอย ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามที่ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า ฝ่ายโจทก์ได้ใช้ซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์มาเกิน 10 ปีแล้ว โดยโจทก์ที่ 1 ให้บริษัทไทยพัฒนกิจขนส่งจำกัดใช้รถยนต์โดยสาร และโจทก์ที่ 2 ใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อ กับโจทก์ที่ 3 ให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 ใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อเช่นเดียวกันแล่นเข้าออกซอยตลอดมา และน่าเชื่อว่าเมื่อ พ.ศ. 2518และพ.ศ. 2520 เทศบาลก็เคยนำรถยนต์ดับเพลิงเข้าไปในซอยเพื่อดับเพลิงที่โรงงานของโจทก์ที่ 2 ฝ่ายโจทก์นำสืบถึงความกว้างของรถยนต์โดยสารของบริษัทไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด รถยนต์บรรทุกสิบล้อของโจทก์ที่ 2 และของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 กับรถยนต์ดับเพลิงของเทศบาล มีความกว้างประมาณ 2.50 เมตร โดยจำเลยไม่สืบหักล้าง จึงฟังได้ว่า รถยนต์ดังกล่าวมีความกว้างประมาณ2.50 เมตร ดังนั้นเมื่อจำเลยสร้างกำแพงปิดล้อมที่ดินโฉนดที่ 9050เหลือความกว้างของซอยในช่วงปากซอยเพียง 2.96 เมตร ซึ่งกว้างกว่าตัวรถของฝ่ายโจทก์เพียงเล็กน้อย การนำรถยนต์เข้าออกของฝ่ายโจทก์คงไม่สะดวก และซอยในช่วงที่มีความแคบที่สุดซึ่งมีความกว้างเพียง 2.15 เมตร ซึ่งเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าฝ่ายโจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์แล่นเข้าออกได้ และเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณะของที่ดินโฉนดที่ 9772 ก่อนแบ่งแยกแล้ว จะเห็นได้ว่านายพินิตได้กันที่ดินตามโฉนดดังกล่าวไว้เพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจากนายพินิตทั้งสองด้านของที่ดินตามโฉนดดังกล่าวได้ใช้ประโยชน์ในการสัญจร ซึ่งรวมถึงการใช้ยานพาหนะเข้าออกได้ด้วย ที่จำเลยนำสืบว่า แม้จำเลยจะสร้างกำแพงปิดล้อมที่ดินตามโฉนดที่ 9050 ฉบับเดิมแล้ว แต่รถยนต์บรรทุกสิบล้อ ก็ยังแล่นเข้าออกซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์ได้ปกตินั้นฝ่ายโจทก์โดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 2ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 และนายบุญมีเบิกความว่า เมื่อจำเลยสร้างกำแพงแล้วรถยนต์เข้าออกไม่ได้ นายบุญมียอมให้ฝ่ายโจทก์ใช้ที่ดินของนายบุญมี ส่วนที่ติดกับทางพิพาทให้รถยนต์แล่นเข้าออกได้ชั่วคราว ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ดีกว่าจำเลยรูปคดีจึงน่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ 9050 ฉบับเดิมเป็นทางภารจำยอม ที่จำเลยฎีกาว่าถ้าที่ดินตามโฉนดที่ 9050 ฉบับเดิมเป็นถนนธนาคารกรุงเทพ จำกัด คงไม่รับจำนองนั้นเห็นว่า การที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ยอมรับจำนองที่ดินตามโฉนดดังกล่าวย่อมเป็นเหตุผลส่วนตัวของธนาคาร ไม่พอฟังเป็นข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดว่าที่ดินที่ธนาคารรับจำนองไม่เป็นถนนหรือตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยซื้อที่ดินโฉนดที่ 9050 ฉบับเดิมโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน กับจดทะเบียนได้กรรมสิทธิ์ย่อมได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299และ 1300 โจทก์เป็นบุคคลภายนอก อ้างสิทธิการได้มาโดยภารจำยอมมิได้จดทะเบียน ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยนั้น เห็นว่า ภารจำยอมจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อภารยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1397 หรือมาตรา 1399 และภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิประเภทที่จำกัดตัดทอนกรรมสิทธิ์ เป็นทรัพยสิทธิที่ผูกพันอยู่กับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภารยทรัพย์ เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเป็นสามยทรัพย์ไม่ใช่ทรัพยสิทธิส่วนตัวบุคคล ดังนั้นแม้เจ้าของภารยทรัพย์จะเปลี่ยนตัวไปก็หาเป็นข้อสำคัญไม่ ส่วนมาตรา 1299 ที่บัญญัติว่า”สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว”นั้น หมายความถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพยสิทธิอันเดียวกันกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้นกรณีตามที่จำเลยอ้างเป็นการได้สิทธิประเภทกรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์ จึงมิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพยสิทธิอันเดียวกัน จำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทต้องสิ้นไปหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างมาตรา 1300 ซึ่งบัญญัติว่า”ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทนซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทางทะเบียนไม่ได้” เป็นข้อต่อสู้ด้วยนั้นเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่เกี่ยวกับบทกฎหมายดังกล่าวและไม่อาจจะนำปรับกับคดีนี้ได้”
พิพากษายืน